รวมข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดแม่ฮ่องสอน
 

 

 

                        
 

 

     

        

ประวัติความเป็นมา

                        เดิมกะเหรี่ยงอาศัยอยู่แถบบริเวณต้นแม่น้ำสาละวิน  ต่อมาได้อพยพเข้าสู่เมียนมาร์และไทย 
 แต่คำกล่าวนี้ไม่มีหลักฐานแน่ชัดมีบันทึกของมิชชันนารีอเมริกันแบบติสต์ซซึ่งไปทำงานกับชาวกะเหรี่ยงในเมียนมาร์ได้ให้รายละเอียดว่ามีชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากต่อมาเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายปกครองของเมียนมาร์กับชาวกะเหรี่ยงรวมทั้งชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆ กระทั้งเกิดเป็นสงครามขึ้น ซี่งเป็นแรงกดดันอันสำคัญที่ทำให้ชาวกะเหรี่ยงจำนวนมากอพยพเข้าสู่ประเทศไทย  ตามเขตชายแดนซึ่งเดินทางเข้ามาได้ไม่ยากนัก

                          กะเหรี่ยงจัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน – ธิเบตในประเทศไทยมี 1,925หมู่บ้าน 87,793 
หลังคา-เรือน ประชากร  438,450  คน คิดเป็นร้อยละ  4.793  ของจำนวนประชากรชาวเขาในประเทศไทย
กระจายตัวอยู่ในเขต  15 จังหวัดคือ  กาญจนบุรี  กำแพงเพชร  เชียงราย  เชียงใหม่  ตาก  ประจวบคีรีขันธ์  เพชรบุรี  แพร่  แม่ฮ่องสอน  ราชบุรี  ลำปาง  ลำพูน  สุโขทัย  สุพรรณบุรี  และอุทัยธานี  ปัจจุบันมีกะเหรี่ยงอพยพเข้าไปอยู่ในเมืองจำนวนหนึ่งทำงานเป็นข้าราชการรับจ้างอีกส่วนหนึ่งศึกษาเล่าเรียนกะเหรี่ยงในประเทศไทยมี  4 กลุ่มย่อย คือ

1.       สะกอ  หรือยางขาว  เรียกตัวเองว่า  “ปะกาญอ” เป็นกลุ่มที่มีประชากรมากที่สุด

2.       โป  เรียกตนเองว่า “โพล่ง”  ส่วนใหญ่อยู่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน  เชียงใหม่ และลำพูน

3.       ปะโอ  หรือ “ตองสู”  อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน

4.       บะเว  หรือ “คะยา”  อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน

 

2. การตั้งถิ่นฐาน

                                กะเหรี่ยงส่วนใหญ่อยู่บนเขาและมีบ้างอยู่ตามพื้นราบ บางแห่งมีทั้งกะเหรี่ยงสะกอ
และกะเหรี่ยงโปอยู่อย่างหนาแน่นก็จริง แต่ไม่ชอบอยู่รวมกันหมู่บ้านถึงแม้จะอยู่ติดกันแต่ก็แยกกลุ่มกัน ลักษณะเด่นอันหนึ่งของกะเหรี่ยงที่ไม่เหมือนกับชาวเขาเผ่าอื่นก็คือการตั้งหมู่บ้านอย่างถาวรเป็นหลักแหล่ง  เช่น บางหมู่บ้านของกะเหรี่ยงนั้นอยู่มานานกว่า200 ปีก็มีทั้งนี้เพราะความสามารถในการอนุรักษ์ดินและน้ำ วิธีการที่ดีและเหมาะสมคือ 
การทำนาแบบขั้นบันไดตามไล่เขา จึงสามารถที่จะทดน้ำเข้าไปใช้ได้ หรือการทำนาน้ำฝน

                                คนทั่ว ๆ ไปโดยเฉพาะทางภาคเหนือรู้จักกะเหรี่ยงในชื่อว่าคนยาง  ส่วนไทยในภาคกลางนั้นรู้จักกะเหรี่ยงในชื่อว่ากะเหรี่ยง  นอกจากนั้นในท้องที่หนึ่ง ๆ อาจเรียกพวกนี้ว่า ยางแดง  ยางขาว  ยางเปียง  ยางกะเลอ  และยางน้ำ ฯลฯ ซึ่งที่แท้จริงแล้วก็คือชื่อกะเหรี่ยงอย่างเดียวกัน  แต่นักภาษาศาสตร์ได้แบ่งแยกกลุ่มกะเหรี่ยงทั้งหมดที่อยู่ในประเทศไทยเพียง 4 กลุ่มตามที่ได้กล่าวมาแล้วเท่านั้น

 

3. ระบบสังคม

                                การตั้งถิ่นฐานรวมตัวกันเป็นหมู่บ้านเป็นสิ่งสำคัญคือ  เป็นแหล่งหรือสถานที่สำหรับการประกอบพิธีกรรมของตนเอง ในหมู่บ้านหนึ่ง ๆ นั้นจะมีหัวหน้าฝ่ายชายซึ่งมีตำแหน่งหมอผีเพียงคนเดียวเป็นผู้ทำพิธีกรรมนี้  นอกจากนั้นแต่ละหมู่บ้าน (ในอดีต)  ยังได้แบ่งเขตของตนหรืออาณาเขตของหมู่บ้านโดยใช้รัศมีการเดินทางระยะเดินเท้า 1 ชั่วโมง  เป็นตัวกำหนด  คนในหมู่บ้านหนึ่งจะไปทำไร่ในเขตของอีกหมู่บ้านหนึ่งไม่ได้  นอกจากการทำนาเท่านั้น  เพราะนาซื้อขายกันได้  แต่ไร่นั้นเป็นการถือกรรมสิทธิ์ครอบครอง

                                สังคมกะเหรี่ยงเป็นครอบครัวเดี่ยว  ซึ่งหมายถึงว่าในบ้านหลังหนึ่งจะประกอบด้วยพ่อแม่ และลูกเท่านั้น  เมื่อลูกแต่งงานก็จะแยกครอบครัวไปปลูกบ้านใหม่หลังเล็ก ๆ แต่มีข้อแม้ว่า  ถ้าแต่งงานแล้ว ชายจะต้องมาอยู่กับบ้านภรรยาก่อนเป็นเวลา 1 ฤดูกาลเกษตร (คือเริ่มจากการถางไร่  ปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวข้าวประมาณ 7-8 เดือน)  หลังจากนั้นก็จะปลูกบ้านใกล้ชิดกับพ่อแม่ฝ่ายภรรยา  คำว่าครัวเรือนในสังคมกะเหรี่ยงนอกจากมีความหมายถึงพื้นฐานขั้นแรกในด้านการผลิตและบริโภคแล้วยังหมายถึงว่าแต่ละครัวเรือนมีไร่ของตนเอง  พิธีกรรมด้านการเกษตรและการรักษาพยาบาลเป็นหน้าที่ของหัวหน้าครัวเรือนยกเว้นพิธีทางศาสนาหรือการเลี้ยงผีตามประเพณีของผีฝ่ายมารดา

 

การสืบสายฝ่ายมารดา

                        กะเหรี่ยงโปเป็นกลุ่มที่นับถือผีบรรพบุรุษฝ่ายมารดาซึ่งหมายถึงว่าพ่อแม่จะตร้องเป็นกะเหรี่ยงโป  สำหรับผู้มีบิดาหรือมารดาเป็นกลุ่มอื่น   เช่น สะกอ  หรือลัวะ จะไม่มีผีบรรพบุรุษหรือฝีในสายฝ่ายมารดาเดียวกัน 
จะมีแต่ผีเรือนของตนเองเท่านั้น

 

การแต่งงาน

                                การแต่งงานเป็นแบบผัวเดียวเมียเดียว  ซึ่งเป็นกฎที่เคร่งครัดมาก  การหย่าร้างมีน้อยและ
การแต่งงานใหม่ไม่ค่อยปรากฏ  การสมสู่ก่อนที่จะแต่งงานกันนี้เป็นกฎข้อห้ามและจะถูกรังเกียจถึงขั้นปรับไหมและเชื่อกันว่าผีเจ้าที่จะขุ่นเคือง

                                ปกติการเกี้ยวพาราสี  มักจะเกิดขึ้นในโอกาสพิธีงานศพ  ซึ่งจัดให้มีขึ้นในหมู่บ้าน
 (เหมือนกับงานเทศกาล) เพราะหนุ่มสาวที่อยู่กันไกล ๆ ก็เดินทางมาร้องเพลงสวดรอบ ๆ ศพที่บ้านคนตายตลอดคืน งานศพอาจจะมีขึ้น 3
– 5  คืน โอกาสนี้ชายหนุ่มก็จะมีโอกาสเลือกคู่ครองได้

                                การเลือกคู่ครองนั้น  ฝ่ายหญิงจะเป็นผู้บอกตกลงแต่งงานกับชายก่อน  และบางครั้งหญิงสาวก็จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดซึ่งไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติในสังคม

                                การแต่งงานระหว่างผู้นับถือผีบรรพบุรุษของสายฝ่ายเดียวกันจะกระทำมิได้ปกติกะเหรี่ยงโป่จะแต่งงานกับพวกเผ่าเดียวกันแต่ก็มีบ้างที่แต่งงานกับคนนอกเผ่า  เช่น กะเหรี่ยงสะกอ  ลัวะ และคนไทยก็มี

 

การสืบมรดก

                                ทรัพย์สินต่าง ๆ จะแบ่งกันในระหว่างที่คู่สมรสยังมีชีวิตอยู่กับลูก ๆ  ถ้าหากลูกยังเล็กเกินไปทรัพย์สินต่าง ๆ ก็จะให้ผู้อื่นซึ่งได้แก่ญาติฝ่ายบิดามารดาเป็นผู้ดูแลให้  แต่ของส่วนตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ของผู้ตายซึ่งหมายถึงบิดามารดาจะถูกเผ่ารวมกับศพ  เช่น ปืน เสื้อผ้า  ถุงย่าม

                                ถ้าหากมีการพิพากในเรื่องมรดกเกิดขึ้น  หมอผี  หรือเชี่ยเก็งคูจะปรึกษาหารือกับ
กลุ่มผู้อาวุโสและตัดสินใจร่วมกัน

 

4. การปกครอง

                                อำนาจในทางการปกครองโดยเฉพาะจากทางราชการที่ได้ตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านนั้น  ถ้าเป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลและการคมนาคมลำบากแล้ว  อำนาจต่าง ๆ ของผู้รับหน้าที่จากทางรัฐบาลจะมีไม่มากเท่ากับหมอผีประจำหมู่บ้านและกลุ่มผู้อาวุโส  เพราะชาวบ้านต่างยอมรับและประพฤติปฏิบัติตามประเพณีมากกว่า  เช่น  การตัดสินปัญหาที่มีความผิด  โดยการลงโทษด้วยการขับไล่ลูกบ้านออกจากหมู่บ้านจะเป็นไปตามข้อตัดสินของกลุ่มผู้อาวุโสเท่านั้น  ผู้ใหญ่บ้านหรือผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้มีตำแหน่งทางราชการก็เป็นเพียงคนหนึ่งในคณะกรรมการของกลุ่มผู้ตัดสิน

 

5. ความเชื่อถือ

                                ความเชื่อถือของกะเหรี่ยงได้แผ่แทรกซึมและมีอิทธิพลมากต่อการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเขา  ดังนั้นกะเหรี่ยงจึงให้ความสำคัญในทางศาสนามาก นั่นคือการนับถือผีและพุทธรวมกัน ผีที่กะเหรี่ยงนับถือซึ่งมีความสำคัญ  ได้แก่ผีเจ้าที่และผีต่าง ๆ ที่สิงสถิตอยู่ตามป่า  ภูเขา  ลำห้วย  ในไร่ และในหมู่บ้าน ฯลฯ  ผีที่ถือกันว่าเป็นผีร้ายนั้นเชื่อว่าเป็นผีที่จะทำให้ประสบภัยพิบัติทั้งปวง  จึงต้องมีการเอาอกเอาใจด้วยการเซ่นสังเวยด้วยอาหารต่าง ๆ ซึ่งได้แก่  หมู  ไก่ ฯลฯ

                                นอกจากมีความเชื่อในเรื่องผีต่าง ๆ ซึ่งมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันต่อพวกเขาแล้ว
กะเหรี่ยงยังเชื่อในเรื่องขวัญซึ่งมีประจำตัวของแต่ละคน  กะเหรี่ยงเชื่อว่าในร่างกายของคนเรามีอยู่ทั้งหมด  33 
ขวัญ  ส่วนใหญ่ไม่สามารถนับได้หมดว่าขวัญอยู่ในส่วนไหนบ้างของร่างกาย  เพียงแต่บอกได้ว่าอยู่ในส่วนสำคัญ ๆ ของร่างกาย  เช่น ขวัญศรีษะ   ขวัญสองขวัญที่ใบหูทั้งสองข้าง ขวัญจะละทิ้งหรือหายไปก็ต่อเมื่อคน ๆ นั้น
ได้ตายไป  นอกจากนั้นแล้วเชื่อกันว่าขวัญชอบที่จะหนีไปท่องเที่ยวตามความต้องการของมันเอง
และก็อาจจะถูกผีร้ายต่างๆทำร้าย  หรือกักขังไว้  ซึ่งจะทำให้ผู้นั้นล้มป่วย  การรักษาพยาบาลหรือวิธีที่จะช่วยเหลือคนเจ็บป่วยได้ก็คือ  การล่อและเรียกขวัญให้กลับมาสู่บุคคลที่เจ็บป่วย  พร้อมกับทำพิธีผูกข้อมือรับขวัญด้วย 
ในสังคมของกะเหรี่ยงนั้นถือเป็นปกติธรรมดา  เมื่อแต่ละวันในหมู่บ้านจะทำพิธีเลี้ยงผีและการเรียกขวัญของคนเจ็บป่วยแทนการรักษาด้วยหมอสมัยใหม่  บางครั้งถึงแม้จะมีหมอเข้าไปช่วยรักษาให้ตามแบบทันสมัย 
แต่ถ้าหากที่บ้านผู้ป่วยนั้นได้รักษาด้วยการเลี้ยงผีแล้วเขาจะปฏิเสธที่จะรักษาทันทีอย่างน้อย  3 วัน

 

6. เศรษฐกิจ

                        เศรษฐกิจของกะเหรี่ยงในอดีตอยู่ในสภาพที่เรียก “เพื่อยังชีพ”  ซึ่งหมายถึงการทำมาหากินเพื่อบริโภคเท่านั้น  ได้แก่  การปลูกข้าวไร่เป็นหลัก  และการทำนาขั้นบันไดตามหุบเขา  โดยไม่มีการปลูกพืชเงินสดแต่อย่างใด  กะเหรี่ยงไม่เคยปลูกฝิ่นแต่เป็นผู้เสพฝิ่นกันมาก  ทั้งนี้เพราะกะเหรี่ยงนิยมใช้ฝิ่นดิบและสุกมาใช้เป็นยารักษาโรคตร่าง ๆ และบำบัดความเจ็บปวด เนื่องจากได้รับอุบัติ เหตุ

                                ปัจจุบันนี้กะเหรี่ยงเริ่มรู้จักการปลูกพืชเงินสดหรือปลูกพืชเพื่อขายกันมากขึ้น  เช่น กล่ำปลี  มะเขือเทศ  มันฝรั่ง  พืชผักและผลไม้และดอกไม้เมืองหนาว  โดยเฉพาะหมู่บ้านที่อยู่ในโครงการหลวง 
และหมู่บ้านที่มีการคมนาคมค่อนข้างสะดวก  มีน้ำใช้สำหรับการเกษตรได้ตลอดฤดูกาลเพาะปลูก

                                กะเหรี่ยงได้ชื่อว่า  เป็นเผ่าที่รู้จักการใช้พื้นที่ทำกินแบบอนุรักษ์โดยวิธีที่เรียก “ไร่หมุนเวียน”  คือทำไปแล้วก็พักทิ้งไว้ 3 – 5  ปี ก็จะกลับไปทำใหม่วนเวียนกันอย่างนี้ตลอดไปเพื่อป้องกันการสูญเสียของหน้าดิน  อันจะทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ  จึงนับว่ากะเหรี่ยงเป็นพวกที่อยู่อย่างถาวรไม่เคลื่อนย้ายด้วยเหตุผลดังกล่าว

                                การเลี้ยงสัตว์  กะเหรี่ยงนิยมเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ เช่น วัว ควาย หมู  ไก่  โดยเฉพาะไกและหมูเลี้ยงไว้เพื่อใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ ความสำคัญทางเศรษฐกิจของการเลี้ยงสัตว์ในหมู่บ้านได้แก่  การเลี้ยงช้าง 
ในอดีตใช้ช้างเพื่อรับจ้างทำงานกับบริษัททำไม้แต่ปัจจุบันก็ยังมีการเลี้ยงช้างไว้เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ขี่เดินชมธรรมชาติในป่า  นอกจากนี้กะเหรี่ยงเป็นนักล่าสัตว์ป่าเพื่อการบริโภคและชำนาญในการหาของป่าขายเป็นรายได้อีกด้วย