รวมข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดแม่ฮ่องสอน
 

 

 

                     
 

 

     

        

ประวัติความเป็นมา

            อีก้อเป็นชาวเขาเผ่าหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเรียกตนเองว่า อาข่า คนไทยและคนเมียนมาร์
เรียกว่า อีก้อ  หรือ ข่าก้อ  ลาวและชนชาติอินโดจีนตอนเหนือ เรียกอีก้อว่า โก๊ะ   คนจีนเรี่ยกว่า โวนี  หรือฮานี 
ซึ่งหมายรวมถึงชนเผ่าที่พูดภาษโลโลในมณฑลยูนนานทางตอนใต้ด้วย

                นักมานุษยวิทยาและนักภาษาศาสตร์บางท่านได้จัดอีก้ออยู่ในตระกูลภาษาจีน – ธิเขต กลุ่มภาษาย่อย
ธิเบต
– พม่าธิเบต – พม่า  ในจีนตอนใต้พบว่าอีก้ออาศัยอยู่กระจัดกระจายทั่วไปปะปนกับชาวจีน หมู่บ้านอีกก้อ
บางแห่งเป็นสังคมผสมระหว่างอีก้อกับจีน  ทั้งนี้เกิดจากผู้ชายจีนไปแต่งงานกับหญิงสาวอีก้อ

                ประวัติความเป็นมาของอีก้อยังไม่สู้กระจ่างนัก  อย่างไรก็ตาม  จากผลการค้นคว้าศึกษาของนักมานุษย
วิทยาหลายท่านได้ให้ข้อเท็จจริงว่า  อีก้อมีถิ่นฐานเดิมอยู่ตามบริเวณภูเขาสูงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและ
ตะวันตกเฉียงใต้ของจีน  มีอีก้ออยู่มากในมณฑลยูนนาน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแคว้นสิบสองปันนาและไกวเจา 
แต่เดิมอีก้อมีอาณาจักรอิสนะของตนเองอยู่บริเวณต้นน้ำไท้ฮั้วสุย  หรือแม่น้ำดอกท้อในแคว้นธิเบต 
ต่อมาถูกชนชาติอื่นรุกรานจนถอยร่นลงทางใต้  เข้าสู่มณฑลยูนนานและไกวเจา  เป็นเวลานานหลายพันปีมา
แล้ว  และเมื่อพรรคคอมิวนิสต์จีนเข้าครองแผ่นดินใหญ่จีน  อีก้อและเผ่าอื่น ๆ อีกหลายเผ่าได้อพยพมาทางตอน
ใต้อีก  แล้วกระจัดกระจายเข้าไปยังแคว้นเชียงตุงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศเมียนมาร์  ในแคว้น
หัวโขงภาคตะวันตกและแคว้นพงสาลีภาคใต้ของลาว  และในจังหวัดเชียงรายตอนเหนือสุดของประเทศไทย
ในปัจจุบันนี้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศต่าง ๆ ดังนี้

                - แคว้นเชียงตุง  ในรัฐฉานทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเมืองเล็กบางเมืองตะวันออกเฉียงใต้
ประเทศเมียนมาร์

                - มณฑลไกวเจา  และยูนนานตอนใต้ของสาธารณประชาชนจีน

                - แคว้นหัวโขงทางตะวันออกเฉียงเหนือ  และแคว้นพงสาลีทางเหนือของประเทศลาว

                - จังหวัดเชียงราย  ลำปาง  เชียงใหม่  แพร่  กำแพงเพชร  ตาก  ของประเทศไทย

อีก้อในประเทศไทย

                อีก้อในประเทศไทยอพยพมาจากเมียนมาร์และลาว  เพราะถูกจีนรุกรานและบางกลุ่มอพยพเพราะถูกกดดันจากเหตุการณ์ทางการเมือง  จากคำเล่าของผู้สูงอายุชาวอีก้อหลายคนได้ให้ข้อมูลว่า  อีก้ออพยพเข้ามาอยู่ใน
ประเทศไทยประมาณ 60-80 ปี แล้ว  เข้ามาตั้งถิ่นฐานครั้งแรกบริเวณดอยตุง  อำเภอแม่สาย  ต่อจากนั้นได้อพยพ

ย้ายถิ่นออกไปตั้งถิ่นฐานในท้องที่ที่เป็นภูเขา  ของจังหวัดต่าง ๆ คือ  เชียงราย  เชียงใหม่  ตาก  กำแพงเพชร  แพร่  ลำปาง และเพชรบูรณ์

                มีอีก้อบางกลุ่มที่อพยพเข้ามายังประเทศไทยล่าสุดคือพวกที่อพยพมาจากแคว้นสิบสองปันนาของจีน  เข้ามายังประเทศลาวก่อน  เมื่อลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองก็อพยพเข้ามายังประเทศไทย  เพื่อหาที่ทำมาหากินใหม่  โดยอพยพเข้ามาทางเชียงแสนแล้วมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ดอยผาหมีเขตอำเภอแม่สาย  จังหวัดเชียงราย  และอีกกลุ่มอพยพจากดอยผาหมีออกไปตั้งอยู่ที่หมู่บ้านป่าฮี  และหมู่บ้านน้ำรินห่างจากผาหมีประมาณ 5 กิโลเมตร 
อีก้อพวกนี้ได้อพยพเข้ามายังประเทศไทยได้ประมาณ 20
– 25 ปี  และมีอยู่เพียง  3 หมู่บ้านเท่านั้น

ประชากรและการแบ่งกลุ่มย่อย

                อีก้อในประเทศไทยมีจำนวน 273  หมู่บ้าน  11,387  หลังคาเรือน  ประชากร  65,826 คน คิดเป็นร้อยละ 7.20  ของประชากรชาวเขาทั้งหมดของประเทศไทย

                อีก้อแบ่งออกเป็น  3  กลุ่มย่อยคือ

-         อีก้อโจโกวย  หรืออีก้อไทย

-         อีก้อหม่อโป๊ะ  หรือลอบือ  หรืออีก้อจีน

-         อีก้อโลมีชา  หรืออีก้อเยอตุง  หรืออีก้อเมียนมาร์

ลักษณะทางสังคม

            ลักษณะการตั้งหมู่บ้าน  อีก้อชอบตั้งหมู่บ้านตามภูเขาที่มีระดับความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 3,000 – 4,000 ฟุตจากระดับน้ำทะเล  ภูเขาหรือสันเขาที่เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านจะต้องมีพื้นที่กว้างขวาง  เพียงพอสำหรับเด็ก ๆ วิ่งเล่นและใช้เป็นที่ชุมนุมของชาวบ้านในพิธีกรรมหรืองานฉลองต่างๆ ได้ด้วย  หมู่บ้านต้องไม่ห่างไกลจากแหล่งน้ำมากนัก  ปกติแหล่งน้ำจะอยู่ในหุบเขาใกล้หมู่บ้าน  อีก้อไม่นิยมต่อรางน้ำเข้าหมู่บ้าน  ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าผีน้ำอาจนำอันตรายต่างๆ มาสู่ชาวบ้านได้

                ในการเลือกตั้งหมู่บ้าน  บุคคลสำหรับของหมู่บ้านประกอบไปด้วยหัวหน้าหมู่บ้าน  หัวหน้าพิธีกรรมของหมู่บ้าน  ช่างตีเหล็ก  และผู้อาวุโสในหมู่บ้านจะเป็นผู้เลือกสถานที่  เมื่อตกลงใจเลือกสถานที่ได้แล้ว  หัวหน้าพิธีกรรมจะทำการเสี่ยงทายขอที่จากผีเจ้าที่  โดยใช้ไข่ 3 ฟอง  โยนลงไปกระทบพื้น  เมื่อไข่แตกก็แสดงว่าสร้างหมู่บ้านได้  ถ้าไข่ไม่แตกทั้ง 3 ฟอง  จะตั้งหมู่บ้านบริเวณนั้นไม่ได้เพราะผีไม่อนุญาตต้องหาที่ตั้งหมู่บ้านใหม่

                อีก้อถือว่าภูเขาที่จะตั้งหมู่บ้านควรเป็นภูเขาลูกกลางที่ล้อมรอบด้วยภูเขาสูง ลักษณะภูเขาเช่นนี้ถือกันว่าจะทำให้ชาวบ้านอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข  เลี้ยงสัตว์ดีพืชผลในไร่อุดมสมบูรณ์

                โครงสร้างหมู่บ้านประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้

                ประตูหมู่บ้าน (ลกข่อ)  ประตูนี้เป็นประตูทางเข้าหมู่บ้านทั้งด้านหน้าและด้านหลังเป็นประตูศักดิ์สิทธิ์ของอีก้อ  ใครจะแตะต้องไม่ได้  นอกจากวันทำพิธีสร้างประตูหมู่บ้านใหม่  ซึ่งจะต้องทำขึ้นใหม่ทุก ๆ ปีประมาณเดือนเมษายน  ข้อห้ามเรื่องการแตะต้องประตูนี้จะห้ามทั้งคนนอกเผ่าและคนในเผ่า

                ศาลผี (หมิชา  ลอเอ๊อะ)  ศาลผีนี้ตั้งอยู่ในป่าใกล้หมู่บ้าน  แต่อยู่นอกเขตประตูหมู่บ้าน  ศาลผีสร้างขึ้นเพ่อเป้นที่พำนักของผีป่าที่ผ่านไปมาเพื่อไม่ให้ผีป่าเข้าไปในหมู่บ้าน  ศาลผีนี้ จะต้องมีการเซ่นไหว้ทุกปีในเดือนเมษายนก่อนฤดูปลุกข้าว

                ชิงช้า (หละซา  หรือโละซ่า)  สร้างขึ้นภายในหมู่บ้าน  เป็นสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งของหมู่บ้านมีอยู่ 2 แบบ คือ  แบบระหัดวิดน้ำและกระโจม  4 เสาชิงช้านี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง  ในพิธีรำลึกถึงเทพธิดาผู้ประทานความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พืชผลในไร่  เมื่อถึงเทศกาลโล้ชิงช้าประจำปี  ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นประมาณเดือนสิงหาคม – กันยายน  จะมีการสร้างขึ้นใหม่แทนอันเก่าทุก ๆ ปี ชิงช้านี้นอกจากวันทำพิธีกรรมแล้วจะแตะต้องไม่ได้เช่นเดียวกัน

                แหล่งน้ำประจำหมู่บ้าน (หละดู่)  หมู่บ้านอีก้อทุกหมู่บ้านจะมีบ่อน้ำประจำหมู่บ้าน 1 – 2  บ่ออยู่บริเวณหุบเขาเพื่อใช้บริโภค  ใช้สำหรับพิธีกรรมเลี้ยงผีน้ำและผีพันธุ์ข้าว  โดยเพื่อขอพรผีน้ำให้ประทานความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พืชไร่  บ่อน้ำนี้จะมีการทำพิธีเซ่นไหว้ทุก ๆ ปี  ก่อนลงมือปลูกข้าวไร่

                ลานสาวกอด (แต๊ะขอ)  ลานสาวกอดเป็นสถานที่พบปะและเกี้ยวพาราสีระหว่างหนุ่มสาว  เพราะตามประเพณีอีก้อหนุ่มสาวจะเกี้ยวพาราสีกันบนบ้านไม่ไผ่  ลานสาวกอดเป็นสัญลักษณ์เฉพาะเผ่าอีก้อเท่านั้น  เป็นสถานที่สำคัญชนรุ่นหลังจะต้องรักษาไว้เพื่อไม่ให้ผีบรรพบุรุษ  ผีเรือน  และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายโกรธ  และไม่พอใจต่อการกระทำของหนุ่มสาวในสถานที่อันไม่สมควร

                เขตป่าสงวนประจำหมู่บ้าน  ใกล้หมู่บ้านทุกแห่งจะมีป่าไม้และต้นไม้ใหญ่  ซึ่งอีก้อสงวนไว้เป็นที่พักอาศัยของผีป่าและเป็นแหล่งต้นน้ำประจำหมู่บ้าน  ในเขตป่าสงวนห้ามตัดไม้หรือแผ้วป่าเป็นอันขาด  ผู้ใดละเมิดจะถูกปรับด้วยหมู  หรือไก่ 1 ตัว  เหล้า  1  ขวด  เพื่อนำไปขอขมาต่อผีป่า

                ป่าช้า (หลอบบุ้ม)  อยู่ใกล้กับหมู่บ้าน  แต่อยู่คนละภูเขากับภูเขาที่ตั้งหมู่บ้านและต้องอยู่ทางตะวันออกของหมู่บ้านเสมอ  ในบริเวณป่าช้า  หรือแม้แต่เป็นป่าช้าที่ร้างไปแล้ว    ก็ห้ามตัดไม้แผ้วถางป่า  เก็บฟืน  และใช้พื้น
ที่ทำการเพาะปลูก  ผู้ใดฝ่าฝืนต้องถูกปรับด้วยหมู  1  ตัว

                ลักษณะและแบบบ้านอีก้อ

                บ้านอีก้อ  โดยทั่วไปมีลักษณะพื้นสูงจากพื้นดินประมาณ  1  เมตร  มีบันได 3 – 5 ขั้น  อยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของตัวบ้าน  บ้านสร้างด้วยไม้ไผ่มีเสาเป็นไม้เนื้อแข็ง  ฝาบ้านทำด้วยฟากไม้ไผ่  หลังคามุงด้วยหญ้าคาที่คลุมยาวลงมาจนเกือบถึงพื้นดิน  ไม่มีหน้าต่าง ภายในบ้านมี  2  ห้องนอน  คือ  ห้องนอนฝ่ายชายจะอยู่ใกล้บันไดทางด้านหน้าบ้าน  และชั้นในเป็นห้องนอนฝ่ายหญิง  มีเตาไฟ 1 – 2  เตาอยู่ทั้งห้องนอนฝ่ายชายและห้องนอนฝ่ายหญิง  เตาไฟที่ห้องนอนฝ่ายหญิงมีไว้สำหรับปรุงอาหารและมีเตาไฟขนาดใหญ่สำหรับต้มอาหารเลี้ยงหมู  ส่วนเตาที่อยู่ทางห้องฝ่ายชายมีไว้เพื่อให้ความอบอุ่น  และสำหรับต้มน้ำชาไว้เลี้ยงแขก  เหนือเตาไฟทางห้องฝ่ายหญิงจะมีหิ้งเก็บของ  ที่เสาเอกของบ้านจะมีเป็นหิ้งผีบรรพบุรุษ  ใต้หิ้งผีมีตะกร้าบรรจุเมล็ดพันธุ์ข้าวและพันธุ์ผักสำหรับไว้ปลูกในปีต่อไป  ห้องนอนฝ่ายหญิงห้ามบุคคลภายนอกเข้าไปก่อนได้รับอนุญาต  บ้านอีก้อส่วนมากจะมีรั้วกั้นเป็นสัดส่วนของแต่ละบ้าน  ภายในบริเวณรั้วบ้านมียุ้งข้าวสร้างไว้หน้าบ้าน  ข้างหน้ายุ้งข้าวจะเป็นศาลขวัญข้าว  ด้านหลังบ้านมีครกตำข้าว  ถ้าบ้านไหนมีลูกชายที่แต่งงานแล้วและพ่อยังมีชีวิตอยู่จะมีกระต๊อบเล็ก ๆ สร้างไว้หลังบ้านใหญ่  เพื่อเป็นที่สำหรับลูกชายและลูกสะไภ้หลับนอนด้วยกัน  เพราะตามประเพณีอีก้อห้ามลูกชายลูกสะไภ้หลับนอนด้วยกันบนบ้านขณะที่บิดาซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวยังมีชีวิตอยู่

                การรวมตัวในลักษณะหมู่บ้าน

                ครอบครัวอีก้อเป็นแบบครอบครัวขยาย  คือครอบครัวพ่อแม่และของลูกชายที่แต่งงานแล้วและนำภรรยามาอยู่กับพ่อแม่  ในแต่ละครัวเรือนอาจประกอบด้วย  ปู่  ย่า  พ่อ  แม่  ลูก  สะไภ้  และหลาน  ครัวเรือนเป็นศูนย์กลางของการประกอบพิธีกรรม  เศรษฐกิจ  และสังคม  เมื่อหัวหน้าครัวเรือนตายลงไปก็จะให้บุตรชายคนโตที่ยังอยู่ในครัวเรือนนั้น  รับผิดชอบเป็นหัวหน้าครัวเรือนสืบแทน  และรับช่วงหิ้งผีบรรพบุรุษด้วย  ในกรณีที่บุตรชายคนโตยังเล็กอยู่ก็ให้ภรรยาของหัวหน้าครัวเรือนที่ตายไปนั้นเป็นหัวหน้าครัวเรือนแทน

                อีก้อเป็นพวกที่สิบสกุลทางฝ่ายบิดา  ด้วยเหตุนี้อีก้อจึงเน้นถึงความสำคัญของผู้ชายมาก  ตลอดถึงการ
ที่ต้องมีบุตรชายไว้สิบสกุลด้วย  ผู้ชายอีก้อทุกคนจะต้องรู้เรื่องความเกี่ยวดองของสกุล  ทั้งสกุลของฝ่ายตนและฝ่ายภรรยา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุตรชายคนโตที่ต้องรับผิดชอบในการรักษาสกุลไว้และถ่ายทอดให้น้อง ๆ ทราบต่อไป  สกุลของอีก้อมีความสำคัญหลายประการ  เช่น  เป็นเครื่องกำหนดข้อห้ามในการแต่งงานคืออีก้อห้ามคนสกุลเดียวกันแต่งงานกัน  เมื่อผู้ใดย้ายเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านหใม่จะต้องแสดงสายสกุลของตนไว้หัวหน้าพิธีกรรมของหมู่บ้านทราบ  เพื่อว่าเมื่อตายไปจะได้จัดพิธีศพของเขาให้ถูกร้อง  ตามความเชื่อที่ว่าขวัญของผู้ตายสกุลใดจะต้องไปอยู่ตามที่ของสกุลนั้น

                การแต่งงาน

                หนุ่มสาวอีก้อมีอิสระในการเกี้ยวพาราสีและการเลือกคู่ครองมาก  การได้เสี่ยกันก่อนแต่งงานไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจสำหรับพวกเขา  และการถูกเนื้อต้องตัวถือเป็นเรื่องธรรมดาเป็นที่ยอมรับของสังคมอีก้อ  หญิงสาวจะเริ่มเลือกคู่ครองเมื่ออายุได้ประมาณ 16 – 17 ปี  ลานสาวกอดเป็นสถานที่เริ่มต้นของความใกล้ชิดกัน  ซึ่งอาจนำไปสู่การแต่งงาน  อีก้อห้ามเกี้ยวพาราสีกันบนบ้านเพราะถือว่าเป็นการไม่เคารพต่อผีบรรพบุรุษอาจถูกสาปแช่งให้ได้รับเคราะห์ร้าย  แม้แต่ต่อหน้าพ่อแม่ก็ไม่ปฏิบัติกัน  เพราะถือว่าเป็นเรื่องไม่สมควร

                ในสังคมอีก้อไม่มีการบังคับเรื่องการแต่งงาน  แต่เกิดจากความสมัครรักใคร่ของหนุ่มสาวเอง  เมื่อหนุ่มชอบใจหญิงสาวคนใดก็จะชวนเพื่อน ๆ ไปที่บ้านหญิงสาวเพื่อสู่ขอหญิงนั้นด้วยตนเอง  โดยการมอบสุรา  1 ขวดให้แก่พ่อแม่ของหญิงสาวเพื่อเป็นการคารวะ  ไม่มีแม่สื่อในการสู่ขอ  เมื่อพ่อแม่ของหญิงสาวยินยอมแล้ว  ฝ่ายชายก็จะกำหนดวันแต่งงานขึ้นอาจจะหลังวันสู่ขอ 3,5,7  หรือ 9 วัน แต่ต้องไม่เกินกว่านี้หรือจะรับตัวไปในวันสู่ขอ  และจัดพิธีแต่งงานเลยก็ได้  โดยพิธีจะจัดขึ้นที่บ้านฝ่ายชาย  การเลี้ยงดูแขกเป็นหน้าที่ของฝ่ายชายทั้งหมด  ตามปกติในวันแต่งงานญาติของฝ่ายเจ้าสาวจะไม่มาในพิธีแต่งงาน  เมื่อฝ่ายเจ้าบ่าวรับตัวเจ้าสาวมาที่บ้านและจัดพิธีแต่งงานแล้ว  เจ้าสาวก็จะกลายเป็นสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวของเจ้าบ่าว  และมานับถือผีฝ่ายสามี

                ในกรณีที่พ่อแม่ของหญิงสาวไม่ยินยอมยกลูกสาวให้  แต่หนุ่มสาวคู่นั้นรักกัน  หนุ่มสาวอาจหนีตามกันได้  ซึ่งวิธีนี้นิยมมากในเมียนมาร์และลาว  ในการหนีตามกัน  หากญาติของฝ่ายหญิงตามมาเอาตัวคืนและตามทันก่อนที่ฝ่ายชายนำตัวหญิงสาวไปถึงบ้าน และต้มไข่  1 ฟอง กินร่วมกัน  ญาติฝ่ายหญิง มีสิทธิ์นำตัวของหญิงสาวกลับไปได้  แต่ถ้าฝ่ายชายนำตัวหญิงสาวไปถึงบ้านและต้มไข่กินร่วมกันก่อนที่ญาติจะไปถึง ก็ถือว่าเข้าพิธีแต่งงานเรียบร้อยแล้ว  ญาติไม่มีสิทธิ์ที่จะนำหญิงสาวคนนั้นกลับไปได้

การปกครอง

            หน่วยการปกครองของอีก้อก็คือหมู่บ้าน  อีก้อไม่ชอบอยู่ภายใต้การปกครองของชนเผ่าอื่น ๆ หมู่บ้านแต่ละแห่งมีหัวหน้าหมู่บ้าน  เป็นผู้ปกครอง  ซึ่งโดยทั่วไปจะมีหัวหน้าหมู่บ้าน  1 คน เป็นผู้นำเรียกว่า “หยื่อมะ”มีความรับผิดชอบทั้งด้านการปกครองและพิธีกรรมของชุมชน  หัวหน้าหมู่บ้านนี้มีหน้าที่รักษากฎระเบียบของหมู่บ้าน  ทำการปรับไหม  และตัดสินคดีร่วมกับคณะผู้อาวุโสของหมู่บ้านตำแหน่งหัวหน้าหมู่บ้านสืบเชื้อสายมาจากหัวหน้าหมู่บ้านคนก่อน ๆ เมื่อหัวหน้าหมู่บ้านตายลงไป   บุตรชายโตที่อยู่ในหมู่บ้านจะรับตำแหน่งแทน  หากไม่มีบุตรชายดังกล่าวก็ให้ญาติ
ที่ใกล้ชิดที่สุดรับตำแหน่งแทน  การเป็นหัวหน้าหมู่บ้านโดยการสิบสกุลนี้ในทางปฏิบัติมิได้มีการผูกขาด  หรือถือปฏิบัติเข้มงวดจนถือว่าเปลี่ยนแปลงไม่ได้  ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่ากรณีที่หัวหน้าตายลงไป  บุตรชายคนโตที่อยู่ในบ้านจะรับตำแหน่งแทน  หากไม่มีบุตรชายดังกล่าวก็ให้ญาติที่ใกล้ชิดที่สุดรับตำแหน่งแทน  การเป็นหัวหน้าหมู่บ้านโดยการสืบสกุลนี้ในทางปฏิบัติมิได้มีการผูกขาด  หรือถือปฏิบัติเข้มงวดจนถือว่าเปลี่ยนแปลงไม่ได้  ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่ากรณี
ที่หัวหน้าตายลงโดยไม่มีทายาทสืบทอดตำแหน่งบุคคลที่ไม่ได้สืบเชื้อสายหัวหน้ามาก่อนอาจได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าหมู่บ้านโดยการเสนอให้ชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นรับรองก่อนเพื่อเป็นหัวหน้าต่อไป

                นอกจากหัวหน้าหมู่บ้านแล้วก็ยังมีคณะกรรมการหมู่บ้านตามแบบประเพณีซึ่งประกอบด้วยช่างตีเหล็ก 
 ผู้ช่วยหัวหน้าหมู่บ้าน (ผู้ช่วยเหยื่อมะ) หมอผีและบรรดาผู้อาวุโสชาย  คณะกรรมการหมู่บ้านมีบทบาทมาก  ในการตัดสินคดีความ  การจัดพิธีกรรมประจำปี  ตลอดจนการย้ายหมู่บ้าน

                ปัจจุบันการปกครองท้องถิ่นของทางราชการได้เข้าไปสู่ชุมชนอีก้อ  ซึ่งจะมีผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับแต่งตั้งโดยทางอำเภอ  อย่างไรก็ตาม  การปกครองตามประเพณียังมีความสำคัญเช่นกัน

เศรษฐกิจ

            การเกษตรถือเป็นอาชีพหลักของอีก้อ  ในอดีตทำการเกษตรเพื่อยังชีพเท่านั้น  จะขายก็ต่อเมื่อเหลือจากการบริโภคแล้ว  การเกษตรเป็นแบบไร่เลื่อนลอยเปลี่ยนที่ทำการเพาะปลูกไปเรื่อย  เมื่อดินจืดก็จะหาที่เพาะปลูกใหม่  แต่ในปัจจุบันนี้อีก้อเปลี่ยนจากการทำไร่เลื่อนลอยมาเป็นการทำไร่แบบหมุนเวียนมากขึ้น  ทั้งนี้เพราะพื้นที่ทำการเพาะปลูกมีน้อย ประชากรเพิ่มขึ้น  แต่ที่ดินมีอยู่อย่างจำกัด  ครอบครัวหนึ่ง ๆ อาจจะมีที่ดินในครอบครองประมาณ 2 – 3 แปลงเพื่อหมุนเวียนในการปลูกข้าวไร่  นอกจากการปลูกข้าวไร่แล้วอาชีพรองลงมาก็คือการเลี้ยงสัตว์  รับจ้างและหาของป่าขาย  ในฤดูแล้ง  อีก้อนำต้นอ้อไม้กวาดมาขายให้แก่คนพื้นราบ  ซึ่งปีหนึ่ง ๆทำรายได้ให้แก่พวกเขาเป็นจำนวนไม่น้อย  อีก้อมีนิสัยขยันขันแข็งในการทำงาน  หนักเอาเบาสู้ สังคมเปลี่ยนแปลงทำให้คนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวออกจากบ้านไปทำงานรับจ้างอยู่ในเมืองหรือรับจ้างคนไทยทำการเกษตรกันมาก  โดยทั่วไป  มีฐานะพอมีพอกิน  ผู้ทียากจนจริงๆ มักจะเป็นพวกติดยาเสพติด  หรือเป็นคนพิการหรือติดเชื้อเอดส์

ความเชื่อ – พิธีกรรม

            เนื่องจากอีก้อมีความเชื่อถือผี  และสิ่งเร้นลับในธรรมชาติ  จึงต้องคอยระมัดระวังไม่ให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อสิ่งดังกล่าว  ดังนั้นก่อนทำสิ่งใดอีก้อจะตรวจดูโชคลางเสียงก่อน  บางทีก็มีการเสี่ยงทาย  บางทีก็ถือเอาปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติว่าเป็นการบอกลางดีลางร้าย

                อีก้อนับถือผีและผีบรรพบุรุษซึ่งถือว่าเป็นผีที่ดีที่สุด  ทุกครัวเรือนจะมีหิ้งผีบรรพบุรุษไว้เซ่นไหว้ปีละ 9 ครั้ง  รองลงมาได้แก่ผีใหญ่ซึ่งถือว่าเป็นหัวหน้าผีทั้งปวง  และเป็นตนเดียวที่อยู่บนสวรรค์มีหน้าที่ดูแลความทุกข์สุข
ให้แก่อีก้อ

                พิธีกรรมของชุมชนมีอยู่ด้วยกัน  9  พิธีคือ

1.  พิธีขึ้นปีใหม่  จัดขึ้นในเดือนธันวาคมใช้เวลา  4  วัน

2.  พิธีทุ่มมี้ เป็นพิธีเกี่ยวกับการเกษตรมีในราวปลายเดือนเมษายนก่อนลงมือทำไร่

3.  พิธีทำประตูหมู่บ้าน  ทำประตูหมู่บ้านทุก ๆ ปีเพื่อระลึกถึง “สุมิโอ” บรรพบุรุษของอีก้อมีขึ้นราวกลาง   เดือนเมษายนใช้เวลา  2 วันร

4.  พิธียะอุผิ  เป็นพิธีบวงสรวงผีใหญ่จัดขึ้นราว ๆ ปลายเดือนเมษายนใช้เวลา  3 วัน

5.  พิธีเลี้ยงผีบ่อน้ำ  เป็นพิธีเซ่นบวงสรวงบ่อน้ำประจำหมู่บ้านเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชไร่จัดให้มีขึ้นในเดือนเมษายนก่อนลงมือทำไร่

6.  พิธีโล้ชิงช้า พิธีนี้จัดขึ้นเพื่อระลึกถึงเทพธิดาผู้ประทานความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พืชผลที่กำลังงอกงามใน
ไร่จัดให้มีขึ้นราวเดือนสิงหาคม  กันยายน

7.  พิธีกินข้าวใหม่  จัดขึ้นเพื่อฉลองรวงข้าวสุกและขอบคุณต่อผีไร่  จัดขึ้นราวเดือนตุลาคม

8. พิธีส่งผีเมื่อสิ้นฤดูฝนของทุก ๆ ปี ราว ๆ ปลายเดือนตุลาคม เมื่อว่างจากงานในไร่  จะทำพิธีไล่ผีออกจากหมู่บ้าน  ผีเหล่านี้อาจจะมากับน้ำฝนเมื่อสิ้นฤดูฝนแล้วจะถูกขับไล่ออกไปจากหมู่บ้านพร้อม ๆ กับฤดูฝนที่กำลังจะหมดไป

9. พิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษ  แม้ว่าจะมีการเลี้ยงผีบรรพบุรุษทุกครั้งที่มีการเลี้ยงผีอย่างอื่นแล้วก็ตาม  แต่ยังมีพิธีกรรมเลี้ยงผีบรรพบุรุษอีกครั้งหนึ่งหลังจากปีใหม่  ซึ่งจะมีขึ้นราว ๆ ต้นเดือนมกราคมของทุกๆปี

พิธีกรรมต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ อีก้อยังคงถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมาจนถึงปัจจุบัน