27/12/48

 

 รวมข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดแม่ฮ่องสอน

 ประวัติชาวเขา   

 

 กระเหรี่ยง (Karen)  แม้ว (Meo)     เย้า ( Yao)    มูเซอ ( Lahu)        ลีซอ (Lisu)      อีก้อ (Akha)    ลัวะ (Lua)

 

  ถิ่น(H'tin)      ขมุ( Khamu)     ผีตองเหลือง(Malabari)    ปะดอง(Padaung)    ปะหล่อง(Palong)

    

ผีตองเหลือง  MLABRI

 

            ผีตองเหลืองเรียกชื่อเชื้อชาติของตนเองว่า “มลาบรี”  มีความหมายว่า  คนป่าสำหรับคำว่า “ผีตองเหลือง”  นั้นเป็นชื่อเรียกของชาวบ้านคนไทยทางภาคเหนือ ที่ใช้เรียกชนกลุ่มนี้  เนื่องจากชนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมเร่ร่อน  เสาะหาแหล่งอาหารโดยการล่าสัตว์และเก็บพืชผักผลไม้ตามที่ต่าง ๆ ในป่ามารับประทาน  ที่พักหรือบ้านก็สร้างเป็นเพิงหลังคามุงด้วยใบตองสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยในระหว่างหาอาหาร  เมื่อแหล่งที่อยู่อาศัยนั้นมีอาหารไม่พอเพียง  ก็จะย้ายไปอยู่ที่อื่นเพื่อหาอาหารต่อไป  และเป็นความบังเอิญที่ว่าชาวบ้านในแถบนั้นเคยพบชนกลุ่มนี้ตั้งแต่เริ่มสร้างที่อยู่และสังเกตว่า  เมื่อใบตองเปลี่ยนสีเป็นสีเหลือง  ก็จะย้ายหนีไป  ประกอบกับลักษณะนิสัยของเขาเมื่อได้พบกับคนไทยหรือคนเผ่าอื่นที่ไม่เคยรู้จักกัน  ก็อพยพหลบหนีทันที  จึงถูกเรียกชื่อว่า “ผีตองเหลือง”

ประวัติความเป็นมา  การกระจายตัวและประชากร

                มีหลักฐานบางประการทางประวัติศาสตร์และตำนานเรื่องเล่า  ทำให้เชื่อได้ว่า  ผีตองเหลืองมีถิ่นกำเนิดอยู่ในบริเวณแม่น้ำโขงของแขวงไชยะบุรี  ประเทศลาว  สำหรับผีเหลืองในประเทศไทย  อพยพเข้ามาเมื่อไม่มีใครทราบ  ในอดีตเคยอยู่กระจายกันในหลายจังหวัด  เช่น เชียงใหม่  เชียงราย  น่าน  แพร่  อุตรดิตถ์  และเลย  แต่ปัจจุบัน  ผีตองเหลืองอาศัยอยู่ในสองจังหวัดของประเทศไทยเท่านั้น  คือ  แพร่  และน่าน  จังหวัดละ 1 หมู่บ้าน  รวม  63  หลังคาเรือน  และมีประชากรรวม  276  คน

การย้ายที่อยู่

                การย้ายที่อยู่มักจะย้ายหลังจากอาหารในบริเวณนั้นไม่พอเพียงกับจำนวนสมาชิก  ในปัจจุบันจะพบว่า  ส่วนใหญ่แล้วชนกลุ่มนี้จะอพยพตามลักษณะภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์โดยจะอาศัยอยู่ในแต่ละพื้นที่ เป็นเวลา 5-10  แล้วก็ย้ายไปอยู่ที่อื่นที่อาหารเพียงพอ  การอพยพอาจจะทำอีกรูปแบบหนึ่งคือ  ย้ายไปแล้ววนกลับมาที่เดิมอีกในรัศมีประมาณ 30  ตารางกิโลเมตร

                ในด้านความเป็นอยู่ของผีตองเหลืองซึ่งมีความเป็นอยู่แบบเร่ร่อนยังไม่รู้จักรวมตัวกันอยู่ในรูปของหมู่บ้าน  แต่จะอยู่กันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ  และอพยพเคลื่อนย้ายไปเพื่อหาแหล่งอาหารในป่า   ดังนั้นชนกลุ่มนี้จะสร้างที่พักอาศัยในลักษณะเพื่อเป็นที่พักชั่วคราวเท่านั้น  มีลักษณะเป็นเพิง  เพราะสร้างง่าย  ที่พักอาศัยจะสร้างจากไม้ไผ่  หลังคาจะมุงด้วยใบตอง  ใบหวาย  หรือใบไม้ชนิดอื่น ๆ ที่มีใบใหญ่พอที่จะมุงเป็นหลังคาได้

ลักษณะครอบครัว

                ลักษณะครอบครัวของผีตองเหลือง  ส่วนใหญ่แล้ว  จะเป็นครอบครัวเดี่ยว ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีขนาดครอบครัวประมาณ 3 – 6  คน  เพราะภายหลังการแต่งงงานคู่สมรสมักจะแยกออกจากครอบครัวเดิมของตนไปตั้งครอบครัวใหม่  จะไม่มีการอยู่ร่วมชายคาเดียวกับพ่อแม่  ทั้งของฝ่ายหญิงหรือฝ่ายชาย

                การแต่งงานของผีตองเหลือง  นิยมแต่งงานกับคนในเผ่าเดียวกันนอกกลุ่มแต่จะไม่แต่งงานกับบุคคลที่เป็นเครือญาติกัน  นอกจากนี้  ผีตองเหลืองยังยึดถึงการแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว  และการแต่งงานใหม่ก็ทำได้  แต่จะต้องมีการหย่าร้างกับคู่ครองเดิมแล้วเท่านั้น  การมีสามีหรือภรรยามากกว่าหนึ่งคนในเวลาเดียวกันผีตองเหลืองถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดผี  ผิดจารีตประเพณีหากมีใครฝ่าฝืนทำผิดจารีตประเพณีในเรื่องนี้  สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ จะดลบันดาลให้สัตว์ป่า  และพืชผักอาหารต่าง ๆ ในป่าหมดไป  ซึ่งจะนำความเดือดร้อนมาให้กับผีตองเหลืองทั้งหมด

ความเชื่อถือ

                มีการนับถือผี  และมีพิธีกรรมเซ่นสรวงบรรพบุรุษ  ซึ่งเป็นผีผู้รักษาป่า  ภูเขา และลำห้วยต่าง ๆ อันเป็นต้นกำเนิดเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของเขา  แต่การนับถือผีของชนเผ่าผีตองเหลือง ไม่ซับซ้อนเหมือนกับชนเผ่าอื่น ๆ

                ผีตองเหลืองนับถือผีป่า  ผีภูเขา  และผีลำห้วย  การเซ่นไหว้บูชาจะกระทำในคืนวันเพ็ญ  ด้วยการเต้นรำรอบ ๆ หอกยาว  เครื่องดนตรีมีอย่างเดียว  คือ แคน

                เกี่ยวกับผู้ตาย  ผีตองเหลืองจะทำพิธีโดยการวางศพลงบนกองไม้แล้วปิดด้วยใบไม้  ญาติพี่น้องจะหมอบลงใกล้ศพ  ร่ำให้  จุดไฟเผาแล้วพากันรีบย้ายไปอยู่ที่อื่นทันที  คนตายแล้ว  เขาเชื่อว่า วิญญานจะออกจากร่างท่องเที่ยวไปแล้วก็ไปสิงในร่างของสัตว์ชนิดต่าง ๆ การเจ็บป่วย  เชื่อว่า  วิญญาณที่ชั่วมาทำร้าย  จะรักษาโดยใช้ไฟหรือควันไฟขับไล่ให้ออกไป

เศรษฐกิจ

                ผีตองเหลืองเป็นกลุ่มชนที่มีวิถีชีวิตแบบเร่ร่อน  ในอดีตไม่มีที่ดินทำกิน  ไม่ปลูกพืช  ไม่เลี้ยงสัตว์  ดำรงชีวิตในวันหนึ่ง ๆ ด้วยการหาอาหารในป่า  จำพวกสัตว์ป่า  ผลไม้  และของป่ามาเป็นอาหาร  รู้จักใช้ไฟเพื่อปรุงอาหารให้สุก  หุงต้มอาหารโดยใช้กระบอกไม้ไผ่  และใช้หม้อที่ได้จากคนไทยหรือชาวเขา

                การแต่งกายที่เป็นจุดเด่นของเผ่าคือ  ผู้ชายนุ่งผ้าเตี่ยวเล็ก ๆ เพียงผืนเดียว  ไม่ใส่เสื้อ  ส่วนผู้หญิงก็มีเสื้อผ้าสวมใส่เช่นเดียวกับชนเผ่าอื่น ๆ ใช้ผ้าถุง  และสวมเสื้อแบบคนไทย

                อย่างไรก็ตาม  ปัจจุบันผีตองเหลืองส่วนหนึ่งได้ออกจากป่า  มารับจ้างทำงานให้กับคนไทย  และชาวเขาที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับแหล่งที่อยู่อาศัยของเขา  ซึ่งจะได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนเป็นเงินและสิ่งของเครื่องใช้  พวกนี้ขยันขันแข็งและทำงานหนัก  เมื่อไปทำงานได้สวมใส่เสื้อผ้าเช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป  ลักษณะ  รูปร่างหน้าตาสีผม  สีผิว  คล้ายคนไทยและชาวเขาเมื่อสวมใส่เสื่อผ้าแล้วจึงดูไม่ออกว่าเป็นคนเผ่าอะไร

                ชีวิตที่เร่ร่อนในป่า  อาจจะยากลำบากมากกว่าแต่ก่อน  เพราะสัตว์ป่ามีน้อยลง  พืชและผลไม้ในป่าที่รับประทานได้ก็มีปริมาณจำกัด  ดังนั้นเมื่อมีคนไทยหรือชาวเขาเผ่าอื่น ๆ จ้างผีตองเหลืองมาทำงานในไร่พวกนี้ก็ยินดีที่จะทำ

 

การดำรงเผ่าพันธุ์

                ผีตองเหลืองเป็นเผ่าที่มีประชากรน้อย  ในอดีตเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว  เคยมีกลุ่มบุคลากรด้านการแพทย์ไปทำการเจาะเลือดชนกลุ่มนี้  และนำมาตรวจดู  ปรากฏลือดกลุ่มเอทั้งสิ้น  ซึ่งแสดงให้เห็นว่า  การแต่งงานของผีตองเหลืองจะมีอยู่ในเผ่าของตนเท่านั้น  สำหรับปัจจุบันมีหญิงสาวเผ่านี้บางคนลงมารทำงานรับจ้างอยู่ในเมืองและแต่งงานกับคนไทยก็มี

                การที่ผีตองเหลืองหันมามีอาชีพรับจ้างทำงานให้คนไทย  หรือชาวเขา  ย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ  สังคม  และวัฒนธรรมประเพณีของเขา  ซึ่งหน่วยงานของทางราชการ  และเอกชนที่เกี่ยวข้อง  โดยเฉพาะด้านสวัสดิการสังคมการศึกษาและสาธารณสุข  ได้ใช้วิธีการในการที่จะทำให้ผีตองเหลืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม  ขณะเดียวกันวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม  และที่เหมาะสม ก็น่าที่จะอนุรักษ์ไว้เพื่อการดำรงเผ่าพันธุ์ของเขาต่อไป

 

 

 

 

*********************************

 

 

 กระเหรี่ยง (Karen)  แม้ว (Meo)     เย้า ( Yao)    มูเซอ ( Lahu)        ลีซอ (Lisu)      อีก้อ (Akha)    ลัวะ (Lua)

 ถิ่น(H'tin)      ขมุ( Khamu)     ผีตองเหลือง(Malabari)    ปะดอง(Padaung)    ปะหล่อง(Palong)