27/12/48

 

 รวมข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดแม่ฮ่องสอน

 ประวัติชาวเขา   

 

 กระเหรี่ยง (Karen)  แม้ว (Meo)     เย้า ( Yao)    มูเซอ ( Lahu)        ลีซอ (Lisu)      อีก้อ (Akha)    ลัวะ (Lua)

 

  ถิ่น(H'tin)      ขมุ( Khamu)     ผีตองเหลือง(Malabari)    ปะดอง(Padaung)    ปะหล่อง(Palong)

    

ถิ่น H’TIN

 

ประวัติความเป็นมา

            ถิ่นจัดอยู่ในสาขามอญ-เขมร  ซึ่งอยู่ในกลุ่มภาษาออสโตรเอเซียติด  มี 2 กลุ่มย่อยคือ  ถิ่นคมาล หรือมาลและถิ่นคลำไปร๊ต์หรือไปร๊ต์ ถิ่นทั้ง 2  กลุ่มนี้  มีความแตกต่างกันในภาษาพูดและขนบธรรมเนียมประเพณี  วนการตั้งถิ่นฐานและการแต่งกายต่างกันในภาษาพูดและขนบธรรมเนียมประเพณีส่วนการตั้งถิ่นฐานและการแต่งกายเหมือน ๆ กัน  ถิ่นอพยพเข้ามาในประเทศไทยเมื่อ 60 – 80 ปีมานี้  โดยอพยพมาจากแขวงไชยบุรีประเทศลาว เข้าสู่ประเทศไทยทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดน่าน

                ถิ่นในประเทศไทยมี 156 หมู่บ้าน  8,435 หลังคาเรือน ประชากร  42,782 คน  คิดเป็นร้อยละ  4.68  ของจำนวนประชากรชาวเขาทั้งหมดในประเทศไทยโดยอาศัยอยู่ในจังหวัดน่าน  เพชรบูรณ์ และเลย

ลักษณะการตั้งถิ่นฐาน

                ถิ่นมักตั้งบ้านเรือนอยู่บนภูเขาที่มีความสูงประมาณ 1,000 – 1,300 เมตร  เหนือจากระดับน้ำทะเล  ลักษณะหมู่บ้านจะตั้งอยู่ในพื้นที่ราบบนภูเขา  ซึ่งไม่ห่างแหล่งน้ำใช้อุปโภคมากนัก  โดยจะรวมกันเป็นกลุ่ม ๆ กลุ่มหนึ่งโดยเฉลี่ยประมาณ 50  ครอบครัวต่อหมู่บ้าน  ในแต่ละหมู่บ้านจะมีการกระจายเป็นกลุ่มเล็ก ๆ โดยยึดวงศ์ญาติเป็นหลัก  กลุ่มย่อยหนึ่ง ๆ จะเป็นคนในตระกูลเดียวกัน  ลักษณะเช่นนี้  อาจเกิดจากสภาพการทำมาหากินและพื้นที่สิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

                ลักษณะบ้านของถิ่นจะเป็นบ้านยกพื้นสูง  พื้นและข้างฝาทำด้วยไม้ไผ่  หลังคาด้านที่ลาดลงมาจะมีครกกระเดื่องสำหรับตำข้าวตั้งอยู่  และใช้เก็บฟืนและสิ่งของต่าง ๆ ด้วย  ตัวบ้านไม่มีหน้าต่าง  มีประตูเข้าบ้าน  2 ประตู  หน้าบ้านจะมีระเบียงหรือนอกชานที่ใหญ่  ระเบียงหน้ามีจะมีชายคายื่นลงมาปกคลุม  ส่วนใต้ถุนบ้านจะเป็นคอกสัตว์

ระบบทางสังคม

                ลักษณะครอบครัว  ในบ้านหลังหนึ่ง ๆ อาจประกอบด้วยครอบครัวเดี่ยวาครอบครัวขยายซึ่งเกิดจากลูกสาวที่แต่งงานนำสามีเข้ามาอยู่ในบ้านด้วย  ยิ่งมีบุตรสาวหลายคนก็มีหลายครอบครัว  โดยครอบครัวของพี่สาวคนโต  สามารถแยกไปตั้งบ้านใหม่ได้  ส่วนครอบครัวของบุตรสาวคนเล็ก  จะต้องอาศัยอยู่กับพ่อแม่ตลอดไป  ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ถิ่นอยากได้บุตรสาวมากกว่าบุตรชาย  ซึ่งเมื่อแต่งงานแล้วต้องไปอยู่บ้านภรรยา  ทำให้ครอบครัวขาดแรงงาน

การสืบสกุล

                สืบทอดสกุลฝ่ายมารดาเนื่องจากมีการนับถือผีบรรพบุรุษของฝ่ายมารดา  ผู้ชายที่แต่งงานแล้วต้องตัดขาดจากฝีเดิมมานับถือผีของฝ่ายภรรยา  และเมื่อมีบุตรก็นับถือผีฝ่ายมารดาเช่นกัน  ดังนั้นในหมู่บ้านถิ่นหนึ่งๆจะมีตระกูล 2-3  ตระกูลๆ หนึ่งก็มี 3-5 หลัง  ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกันและผู้ที่นับถือผีเดียวกันจะมีอยู่เฉพาะภายในหมู่บ้านเท่านั้น  ส่วนการใช้นามสกุลของถิ่นนั้นไม่สามารถบอกลักษณะความเป็นพี่ต้องกันได้  เพราะในหมู่บ้านหนึ่งจะมีเพียง 1 นามสกุลเท่านั้น  ส่วนนามสกุลนอกเหนือจากนี้แสดงถึงการอพยพเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านภายหลัง  แต่ความเป็นเครือญาตินั้นต้องดูจากการนับถือผีของแต่ละคน

การแต่งงาน

                จะมีขึ้นหลังจากที่ฝ่ายชายและหญิงได้ตกลงแต่งงานกัน  ทั้งสองฝ่ายจะกำหนดวันแต่งงานซึ่งจะเป็นวัน

ใดก็ได้  แต่ต้องไม่ตรงกับวันกรรมของทั้งสองฝ่าย  หรือของหมู่บ้าน  ในวันแต่งงานจะกระทำที่บ้านฝ่ายหญิง  มีการเลี้ยงผีและให้พรของผู้อาวุโส  และเลี้ยงเพื่อนบ้านที่มาช่วยงานเป็นเสร็จพิธี  หลังจากนั้นฝ่ายชายก็มาอยู่บ้านฝ่ายหญิง  ในการแต่งงานจะแต่งงานกับคนในหมู่บ้านเดียวกันมากกว่าคนจากหมู่บ้านอื่นซึ่งเป็นคนในกลุ่มย่อยเดียวกันด้วย  ถิ่นไม่นิยมได้เสียก่อนแต่งงาน  ซึ่งเป็นที่รังเกียจของคนในหมู่บ้านแล้วจะต้องมีการเลี้ยงผีบรรพบุรุษและถูกปรับไหม  นอกจากนี้ผู้ชายจะมีภรรยาได้เพียงคนเดียว  ถึงแม้ว่าจะมีฐานะดีก็มีภรรยาหลายคนไม่ได้  นอกจากต้องหย่าขาดจากภรรยาเดิมเสียก่อนจึงทำให้การหย่าร้างของคู่แต่งงานเกิดขึ้นเสมอ  โดยเฉพาะสามี ภรรยาที่อยู่บ้านแม่ภรรยา  และมีครอบครัวพี่น้องสาวอยู่ด้วยและในการหย่าร้างต้องได้รับการอนุญาตจากผู้อาวุโสก่อน

 

 

 

การปกครอง

            การปกครองของถิ่น  อาจแบ่งออกเป็น  2  ลักษณะ คือ

-         อย่างเป็นทางการ

-         ตามจารีตประเพณี

การปกครองอย่างเป็นทางการ  เกิดจากทางราชการเข้าไปดำเนินการจัดตั้งผู้ใหญ่บ้าน  ผู้ช่วย  และคณะ

กรรมการหมู่บ้าน  โดยวิธีให้สมาชิกในหมู่บ้านลงคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือแต่งตั้งโดยทางอำเภอ

                ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางติดต่อระหว่างชาวบ้านกับทางราชการ  เป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาและตัดสินคดีความเล็ก ๆ น้อย ๆ รักษาความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้าน  เป็นผู้นำการพัฒนาด้านต่างๆ รวมถึงการประสานงานขอความช่วยเหลือสนับสนุนจากหน่วยราชการให้เข้ามาช่วยเหลือหรือพัฒนาหมู่บ้าน

                คณะกรรมการหมู่บ้าน  มีผู้ใหญ่บ้านเป็นประธาน  มีคณะกรรมการประกอบด้วยสมาชิกหมู่บ้าน 7-10 คน  ทำหน้าที่รับผิดชอบด้านต่าง ๆ ซึ่งแบ่งออกเป็นฝ่าย  เช่น  ด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย  การศึกษา  สาธารณสุข  พัฒนาอาชีพ  วัฒนธรรมและประเพณี ฯลฯ

                รูปแบบการปกครองของทางราชการ  มักจะประกอบด้วยบุคคลที่อ่านออกเขียนภาษาไทยได้  อยู่ในวัยหนุ่มสาวหรือวัยกลางคน  สมาชิกในหมู่บ้านแต่ละแห่งอาจจะไม่ยอมรับนับถือผู้นำที่ได้รับแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเท่าไรนัก  อาจเป็นเพราะไม่ใช่ญาติอาวุโสที่ต้องเคารพนับถือมาก่อน  หรือมองไปว่า  บุคลิกลักษณะนิสัยไม่น่านับถือ  อย่างไรก็ตาม  ก็ไม่มีใครขัดขวางหรือขัดแย้งรุนแรง เพราะทราบดีว่าเป็นตำแหน่งของทางราชการที่ได้แต่งตั้งจากฝ่ายปกครองของบ้านเมือง

                การปกครองตามจารีตประเพณี   เป็นการปกครองแบบดั้งเดิมของถิ่นหมู่บ้านแต่ละแห่งจะใช้ “ฮีต” เป็นตัวกำหนด  และได้สืบทอดต่อ ๆ กันมาจากบรรพบุรุษของเขา  จารีตแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ

-         จารีตของหมู่บ้าน

-         จารีตของตระกูล

จารีตของหมู่บ้านได้รับการเรียนรู้และถ่ายทอดจากบิดามารดาต่อไปยังบุตรหลาน  เป็นข้อห้าม

ส่วนรวมที่กระทำผิดแล้วจะมีผลทำให้สมาชิกส่วนรวมของหมู่บ้านได้รับความเดือดร้อน เช่น  มีการห้ามสิ่งของเข้ามาในหมู่บ้านในวันกรรม  จะทำให้คนในหมู่บ้านเกิดเจ็บป่วย  การทำกิจกรรมในไร่ก่อนเรือนเก้า ของถิ่นจะทำให้ผู้คนในหมู่บ้านเกิดเจ็บป่วย  การทำกิจกรรมในไร่ก่อนเรือนเก้า  ของถิ่นจะทำให้ผู้คนในหมู่บ้านเจ็บป่วยล้มตาย คณะผู้อาวุส (คนเฒ่าคนแก่)  และหมอผี จะพิจารณาร่วมกันว่า  การกระทำที่ผิดจารีตประเพณี  ผู้กระทำจะต้องถูกลงโทษาอย่างไร  เช่น  ต้องถูกปรับเป็นหมูหรือไก่  1  ตัว  หรือสุรา  1 ขวด  และวิธีแก้ไขจะต้องมีพิธีกรรมอย่างไร

                                จารีตของตระกูล  ถิ่นแต่ละตระกูลจะมีจารีตในตระกูลของตนเอง  ความผิดส่วนตัวที่เกิดขึ้นในตระกูลของตนเอง  เช่น ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือความผิดเกี่ยวกับการทะเลาะเบาะแว้งกัน  ผู้อาวุโสในตระกูลนั้นจะเป็นผู้พิจารณาตัดสินชี้ขาดส่วนการปรับสินไหม  หมอผีจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะปรับเป็นเงินสุรา  หมู  ไก่  หรือ  อย่างไร่อื่น

                                จารีตประเพณียังคงยึดถือกันในสังคมของถิ่น  การกระทำผิดจารีตก็เสมือนการกระทำผิดผี  ทำให้ผีบรรพบุรุษไม่พอ  และทำให้เจ็บป่วยได้

ความเชื่อถือ

            ถิ่น ส่วนใหญ่มีความเชื่อถือในเรื่องไสยศาสตร์หรือสิ่งที่มองไม่เห็นตัวคือ ผีซึ่งสามารถให้คุณให้โทษแก่พวกเขาได้  ถ้าหากผิดจารีตประเพณีต่าง ๆ ที่บรรพบุรุษเคยกำหนดไว้  นอกจากนี้  การเจ็บไข้ได้ป่วย  พวกเขาก็เชื่อว่าเกิดจากการกระทำของผี การรักษาจึงมึกจะทำด้วยการเลี้ยงผีเป็นส่วนใหญ่  ผีที่สำคัญของถิ่นมี 4 ชนิดคือ

                ผีหมู่บ้าน (ปรองงวล)  เป็นผีใหญ่ประจำหมู่บ้านที่สามารถให้คุณให้โทษคนทั้งหมู่บ้านได้  ทุก ๆ ปีต้องมีการเซ่นไหว้  เพื่อให้สมาชิกในหมู่บ้านมีชีวิตอยู่เย็นเป็นสุข

                ผีบ้านหรือผีเรือน  (ปรองแซ)  เป็นผีที่ให้คุณให้โทษเกี่ยวกับผลผลิตจากไร่ว่าจะดีหรือไม่ดี

                ผีเจ้าที่ (ปรองเจ้าตี้)  เป็นผีที่สิงสถิตอยู่ในพื้นที่ก่อนที่จะมีการตั้งหมู่บ้าน  ถิ่นต้องสร้างศาลให้เจ้าหน้าที่สถิตอยู่  แต่ละปีต้องมีการเลี้ยงเพื่อคุ้มครองให้หมู่บ้านพ้นภัยพิบัติต่าง ๆ เมื่อฝนแล้งทำมาหากินไม่ได้ผลดี  อาจจะมาบนผีเจ้าที่ให้ช่วย  เมื่อผ่านพ้นวิกฤตดังกล่าวเขาก็จะต้องมาแก้บนด้วยการเลี้ยงผีอีก

ระบบเศรษฐกิจ

            ในการทำมาหากินในชีวิตประจำวันของถิ่นนั้น  ผลิตเพื่อการยังชีพไปวัน ๆ หนึ่ง การเพาะปลูกจึงเป็นอาชีพที่สำคัญ  โดยเฉพาะการปลูกข้าวไร่เพื่อให้พอกินตลอดปี  จึงทำให้ถิ่นต้องมีพิธีเลี้ยงผีหลายครั้ง  เพื่อให้ผลผลิตมากพอกิน  ส่วนการผลิตเพื่อนำเงินสดนั้น  ถิ่นจะหาได้จากการล่าสัตว์  หรือขายสัตว์เลี้ยง  การรับจ้างและการหาของป่าไปขาย  นอกจากข้าวไร่ที่ปลูกกันทุกหมู่บ้านแล้ว  มีบางหมู่บ้านเริ่มทำนาดำบ้าง ส่วนพืชอื่น ๆ นั้นมีข้าวโพด  ข้าวฟ่าง  และพืชผักต่าง ๆ บางหมูบ้านมีการเก็บเกี่ยวชาป่าทำเมี่ยงเพื่อขายต่อไป  และบางหมู่บ้านแถบตำบลบ่อเกลือเหนือ  และบ่อเกลือใต้  มีการทำเกลือเพื่อขายให้คนในหมู่บ้านใกล้เคียงอีกด้วย  ถิ่นมีความสามารถเฉพาะเผ่าของตนอีกอย่างหนึ่ง  คือ  การจักสานเสื่อหญ้าสามเหลี่ยม  โดยจะนำสามเหลี่ยมมาสานผสมกับใบตองตึงทำให้มีลวดลายที่สวยงาม  สัตว์เลี้ยงที่นิยมเลี้ยงมีไก่หมู  เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรม  และยังสามารถาขายลูกหมูเป็นรายได้อีกด้วย  สุนัขเลี้ยงไว้เฝ้าบ้าน และช่วยในการล่าสัตว์  วัว  ควาย  เลี้ยงไว้เพื่อขายแก่คนพื้นราบ  หรือเพื่อให้เช่าไปทำการไถนา

 

 

 

ข้อห้ามและข้อปฏิบัติบางประการ

                เมื่อเข้าไปในหมู่บ้าน  จะสื่อสารกันได้ง่าย  เนื่องจากถิ่นส่วนใหญ่จะพูดภาษาไทยพื้นเมืองทางภาคเหนือได้  การแต่งกายทั้งชายและหญิงในปัจจุบันแต่งการแบบคนไทย  แม้ว่าจะมีเครื่องแต่งกายประจำเผ่าของตน  แต่ก็หาดูได้ยาก  เพราะไม่นิยมสวมใส่กัน

                สำหรับเรื่องการเข้าพักในบ้านเรือนของถิ่น  แขกที่จะพักค้างคืน  ต้องนอนนอกชาน เข้าไปนอนในบ้านไม่ได้

                ขณะที่ทำขวัญ  ซึ่งทำภายในบ้าน  คนแปลกหน้าห้ามเข้าไปโดยเด็ดขาด

                ถ้าหากไม่รู้จักเขา อย่านำอาหารไปทำเองในครัวของเขา

                การขึ้นบ้านใหม่  ต้องหาผู้ชายชื่อแก้วเป็นผู้ถือข้าว  ผู้หญิงชื่อคำเป็นผู้ถือหม้อนึ่งข้าวขึ้นไปบนบ้านก่อนแล้ว  เจ้าของบ้านจึงเดินตามขึ้นไป

                ห้ามใส่รองเท้าเจ้าไปในบ้าน  หากใส่เข้าไป  ถือว่าผิดผี  เข้าของบ้านจะปรับสุรา  1 ขวด  หรือไก่ 1 ตัว

                ขณะรับประทานอาหาร  ถ้ายังไม่อิ่ม  ห้ามลุกไป  ถ้าลุกออกจากวงอาหาร  เจ้าของบ้านจะเก็บสำหรับทันที

                ถิ่นนิยมดื่มเหล้าขาว  และเหล้าอุ  เหล้าอุนิยมใช้ในการต้อนรับแขก

 

*******************

 

 กระเหรี่ยง (Karen)  แม้ว (Meo)     เย้า ( Yao)    มูเซอ ( Lahu)        ลีซอ (Lisu)      อีก้อ (Akha)    ลัวะ (Lua)

 ถิ่น(H'tin)      ขมุ( Khamu)     ผีตองเหลือง(Malabari)    ปะดอง(Padaung)    ปะหล่อง(Palong)