27/12/48

 

 รวมข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดแม่ฮ่องสอน

 ประวัติชาวเขา   

 

 กระเหรี่ยง (Karen)  แม้ว (Meo)     เย้า ( Yao)    มูเซอ ( Lahu)        ลีซอ (Lisu)      อีก้อ (Akha)    ลัวะ (Lua)

 

  ถิ่น(H'tin)      ขมุ( Khamu)     ผีตองเหลือง(Malabari)    ปะดอง(Padaung)    ปะหล่อง(Palong)

    

ปะหล่อง PALONG

 

            ปะหล่อง  เป็นชนเผ่าที่อพยพจากเมียนมาร์เข้าสู่ไทย  เมื่อประมาณปี พ.ศ.2527  เรียกตัวเองว่า “ดาละอั้ง”   คำว่า ปะหล่องเป็นภาษาไทยใหญ่  ซึ่งใช้เรียกชนกลุ่มนี้นอกจากนั้นยังมีคำเรียกที่แตกต่างกันออกไปอีก เช่น  ชาวเมียนมาร์เรียกปะหล่องว่า “ปะลวง”  และไทยใหญ่บางกลุ่มก็ใช้คำว่า “คนลอย”  ซึ่งมีความหมายว่าคนดอยหรือคนภูเขาแทนคำว่า “ปะหล่อง”

                เอกสารทางประวัติศาสตร์หลายฉบับกล่าวถึงชนชาวปะหล่องว่า  เป็นพลเมืองกลุ่มหนึ่งภายใต้การปกครองของนครรัฐแสนหวี  หนึ่งในเก้านครรัฐของอาณาจักรไตมาว  ซึ่งเป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่ของชนไต  ครั้งพุทธศักราช 1200 โดยมีศูนย์กลางของอาณาจักรในขณะนั้นอยู่บริเวณเมืองแสนหวีในรัฐฉานประเทศเมียนมาร์ (รายงานบางฉบับกล่าวว่าปะหล่องมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในโกสัมพี  ซึ่งก็เป็นข้อมูลที่ตรงกัน  เพราะคำว่าโกสัมพีเป็นคำเรียกนครรัฐแสนหวี  และกินความหมายครอบคลุมรัฐฉานได้ทั้งหมด)

                จำนวนประชากรปะหล่อง  โดยการสำรวจขององค์การพิทักษ์สิทธิมนุษยชนประมาณว่ามี 1 ล้านคน  ถิ่นที่อยู่กันหนาแน่น  คือ บริเวณเทือกเขาในรัฐฉาน  แถบเมืองตองแปง (น้ำซัน) สีป้อเมืองมิต  และทางตอนใต้ของรัฐฉาน  คือ ที่เมืองเชียงตุง  นอกจากนั้นยังพบว่าปะหล่องกระจัดกระจายกันอยู่ทางใต้ของรัฐคะฉิ่น  และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ของยูนนานในประเทศจีน

                อุดร   วงศ์ทับทิม  กล่าวไว้ใน “ดนตรีพื้นบ้านปะหล่อง”  ว่าเมืองเหนือสุดที่ชาวปะหล่องอาศัยอยู่คือ เมืองน้ำคำซึ่งเป็นเขตติดต่อกับเมืองเลียวลีของสาธารณรัฐประชาชนจีน  หรือที่ชาวปะหล่อง  เรียกว่า  เมืองมาว  ถัดลงมาคือเมืองน้ำซัน  น้ำตู  โมโล  เมืองมิต  เมืองกอก  เมืองโหลง  น้ำใส  มานาม  มานพัต  จาวโม  ปูโหลง เจียงตอง  และตากวาง  ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทย  บริเวณดอยอ่างขาง  เขตอำเภอฝาง  จังหวัดเชียงใหม่  ประมาณ  15  ก.ม. 

การอพยพเข้าสู่ไทย

                ราวปี พ.ศ. 2527  ได้มีปะหล่องจำนวนประมาณ  2,000 คน  อพยพมารวมกันที่ชายแดนไทย-เมียนมาร์  บริเวณดอยอ่างขาง  อำเภอฝาง  จังหวัดเชียงใหม่ ที่หมู่บ้านนอแล  ซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้กับพื้นที่รับผิดชอบของโครงการหลวงดอยอ่างขาง  สถานการณ์ครั้งนั้นนำความลำบากใจมาสู่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างยิ่ง  เนื่องจากกลุ่มผู้อพยพครั้งนี้ เป็นชาวปะหล่องจากดอยลาย  อยู่ระหว่างเมืองเชียงตองกับเมืองปั่น  เขตเชียงตุง ฉะนั้นบุคคลเหล่านี้จึงถือเป็นบุคคลที่อพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

                สาเหตุของการอพยพ สืบเนื่องมาจากสถานการณ์ในประเทศเมียนมาร์  เมื่ออังกฤษคืนอิสรภาพ  มีผลทำให้เกิดความระส่ำระสายไปทั่ว  เกิดการขัดแย้งและสู้รบกันตลอดเวลา  ระหว่างกองกำลังชนกลุ่มน้อย  ที่รวมตัวกันจัดตั้งองค์กรแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ  กับทหารรัฐบาลเมียนมาร์ที่ดำเนินการอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ สงครามส่งผลต่อชาวปะหล่องทั้งทางตรงและทางอ้อม  ชาวปะหล่องมีการรวมตัวตั้งเป็นองค์  ชื่อองค์กรปลดปล่อยรัฐปะหล่อง  มีกองกำลังติดอาวุธประมาณ 500 คน  องค์กรดังกล่าวร่วมเป็นพันธมิตรอยู่ในแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ  ซึ่งเป็นองค์กรหลักที่รวมเอาองค์กรต่อสู้เพื่อสิทธิ์ในการปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อยทั้งหมดไว้

                ในแต่ละครั้งที่การสู้รบหรือปะทะกันระหว่างองค์การปลดปล่อยรัฐปะหล่องกับทหารรัฐบาล  ชาวบ้านประสบความเดือดร้อนมาก  ต้องสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

                นอกจากนั้น  พื้นที่ที่ชาวปะหล่องอาศัยอยู่ก็ยังเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวปฏิบัติงานมวลชนของพรรคคอมมิวนิสต์เมียนมาร์  ทหารฝ่ายรัฐบาลจะเข้าไปปฏิบัติการโจมตีเพื่อสกัดกั้นความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา  การปฏิบัติการเหล่านี้  มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวปะหล่องในพื้นที่ดอยลายเป็นมาก

                นายคำ  เหียง  ผู้นำการอพยพเล่าว่า  เมื่อทหารของขบวนการกู้ชาติไทยใหญ่มาตั้งกองทัพใกล้หมู่บ้าน  และทหารคอมมิวนิสต์ก็มาบังคับให้ส่งเสบียงอาหาร  เป็นเหตุให้ฝ่ายรัฐบาลเมียนมาร์  ส่งกำลังเข้าปราบปราม  ชาวบ้านถูกฆ่าตายเป็นจำนวนมาก  โดยถูกกล่าวหาว่าให้การสนับสนุนทหารกู้ชาติ  และคอมมิวนิสต์  นอกจากนั้นยังเอาสัตว์เลี้ยงไปฆ่ากิน  ยึดของมีค่า  เผายุ้งข้าว  ข่มขืนผู้หญิง  และบังคับผู้ชายให้ไปเป็นลูกหาบขนอาวุธเสบียงอาหาร  บางคนถูกสอบสวน  และทุบตีอย่างทารุณเพื่อบังคับให้บอกฐานที่ตั้งของทหารกู้ชาติไทยใหญ่  และทหารคอมมิวนิสต์  เมื่อชาวบ้านต้องเผชิญกับความลำบากนานัปการ  จึงพากันอพยพหลบหนี  จนในที่สุดมาอยู่รวมกันที่ชายแดนไทย – เมียนมาร์  บริเวณดอยอ่างขาง

                ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรชาวเขาเผ่ามูเซอที่บ้านขอบด้งในพื้นที่โครงการหลวงดอยอ่างขาง  ปะหล่องคนหนึ่งจึงได้นำความกราบบังคมทูลของอนุญาตอาศัยอยู่ในประเทศไทย  ซึ่งเป็นผลให้โปรดเกล้าฯ จัดที่อยู่ให้ในฐานะผู้อพยพที่บ้านอแล จนถึงปัจจุบัน

                ช่วงอยู่ที่บ้านนอแล  ชาวปะหล่องประสบปัญหาความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากพื้นที่นั้นอยู่ใกล้เขตอิทธิพลขุนส่า  ทำให้ได้รับผลกระทบจากการสู้รบระหว่างทหารไทยใหญ่ของขุนส่ากับกองกำลังว้าแดงอันเนื่องมาจากผลประโยชน์จากการค้าฝิ่นอยู่เนื่อง ๆ ประกอบกับการขาดแคลนพื้นที่ทำกิน และภาวะอากาศที่หนาวเย็น ทำให้ชาวปะหล่องบางกลุ่มพากันอพยพโยกย้ายหาที่อยู่ที่อยู่ใหม่  และกระจายกันไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในหลายพื้นที่

                ปะหล่องที่อพยพแยกย้ายกันไปตั้งบ้านเรือนอยู่ตามที่ต่าง ๆ ยังมีการเดินทางไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ ปัจจุบันหมู่บ้านชาวปะหล่องอยู่ในพื้นที่  อำเภอฝาง  และอำเภอเชียงดาว  จังหวัดเชียงใหม่  จำนวน 7 หมู่บ้าน 450  หลังคาเรือน  ประชากร 2,324

 

สภาพชุมชน

                ชุมชนปะหล่องแต่เดิมเมื่อครั้งอยู่ในเมียนมาร์  จะตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน  บนสันเขาในระดับความสูงประมาณ  6,000 ฟุตจากระดับน้ำทะเล

                ลักษณะหมู่บ้าน  มีถนนหรือทางเดินผ่านกลางหมู่บ้าน  บ้านแต่ละหลังจะปลูกเรียงรายอยู่  2 ฟากถนน และกระจายออกไปตามลาดไหล่เขา  กลางหมู่บ้านเป็นที่ตั้งของ “โย่ง”  หรือวัด  ซึ่งเป็นศาสนสถานของชุมชนและเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป  บริเวณใกล้เคียงกันเป็นศาลาอเนกประสงค์และตลาดเหนือหมู่บ้านเป็นที่ตั้งของศาลผีเจ้าที่ หรือ “ดะมูเมิ้ง”  ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธ์ที่สำคัญมากของชาวบ้าน

                ลักษณะชุมชนปะหล่องในประเทศไทย  มีการปรับเปลี่ยนไปบ้างตามสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิประเทศ   แต่ทุกหมู่บ้านยังคงรักษาไว้ซึ่งศาลผีประจำหมู่บ้าน  เช่น ที่บ้านปางแดง  อำเภอเชียงดาว  จังหวัดเชียงใหม่  หมู่บ้านจะตั้งอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขา  มีถนนกลางหมู่บ้าน  เหนือหมู่บ้านเป็นที่ตั้งของศาลผีเจ้าที่  ที่สร้างขึ้นอย่างประณีตสวยงาม  และมีรั้วล้อมรอบ  ไม่ปรากฏว่ามีวัด  ศาลาเอนกประสงค์และตลาดซึ่งเป็นเสมือนศูนย์รวมของสมาชิกในชุมชนบริเวณกลางหมู่บ้าน  แต่ชาวบ้านจะใช้บริเวณลานหน้าบ้านของหัวหน้าหมู่บ้านเป็นที่ชุมชนเมื่อจะประกอบกิจกรรมใด ๆ ส่วนในวันสำคัญทางศาสนา  ชาวบ้านจะพากันไปทำบุญที่วัดซึ่งตั้งอยู่ใกล้หมู่บ้าน

ลักษณะบ้าน

                บ้านปะหล่องโดยทั่วไป  จะเป็นบ้านแบบยกพื้น  ความสูงประมาณ 1-3  เมตร  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความลาดชันของไหล่เขา  ก่อสร้างด้วยวัสดุในท้องถิ่น  เสาทำด้วยไม้จริง  พื้นและฝาใช้ฟากไม้ไผ่หลังคามมุงหญ้าคา

                พื้นที่ใช้สอยประกอบด้วย  ชานบ้าน  ห้องอเนกประสงค์  ซึ่งใช้สำหรับการรับแขกและหุงหาอาหาร  บริเวณด้านในสุดเป็นส่วนนอนของสมาชิกในครอบครัว  มีเตาไฟอยู่กลางห้อง  และหิ้งพระอยู่ที่หัวนอน

ลักษณะบ้าน 2 แบบ คือ

1.       บ้านสำหรับครอบครัวเดี่ยว  จะประกอบด้วย ชาน  ห้องอเนกประสงค์และห้องนอนเพียงห้องเดียวเท่านั้น

2.       บ้านสำหรับครอบครัวรวม  จะมีลักษณะเป็นบ้านหลังยาว  ภายในบ้านแบ่งซอยเป็นห้องเล็ก ๆ เรียงกันไปตามความยาวของบ้านตามจำนวนครอบครัวที่อยู่รวมกันในบ้านหลังนั้น  แต่ละครอบครัวจะมีเตาไฟของตัวเองอยู่ในห้อง

บริเวณลานรอบบ้าน  มียุ้งสำหรับเก็บข้าว  ข้าวโพด  บางหลังคาเรือนจะสร้างครกกระเดื่องไว้ใต้ชายคา

ยุ้งข้าว  หรือยุ้งข้าวโพด  นอกจากนั้นยังสร้างเล้าไก่  และคอกหมูไว้อย่างเป็นระเบียบด้วย

                ปัจจุบัน  ลักษณะบ้านปะหล่องในประเทศไทย  มีการปรับเปลี่ยนไปเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศและการใช้สอยพื้นที่  โดยเฉพาะส่วนหุงหาอาหาร ชาวบ้านจะสร้างห้องขึ้นมาต่างหากเพื่อใช้ในการนี้โดยเฉพาะ  ส่วนใหญ่นิยมสร้างต่อเติมตรงชานบ้านด้านใดด้านหนึ่ง  ส่วนเตาไฟที่เคยสร้างไว้ในห้องนอน และห้องเอนกประสงค์  ก็จะลดลงเหลือเพียงในห้องครัวเท่านั้น

ลักษณะครอบครัว

                การอยู่ร่วมกันของชาวปะหล่องในบ้านแต่ละหลัง  ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นแบบครอบครัวขยาย  ซึ่งจะเห็นได้จากขนาดบ้านแต่ละหลังมักมีขนาดใหญ่เท่าที่พบจะมีจำนวนเพียง 2-3 ครอบครัวเท่านั้น  ที่อยู่รวมในบ้านหลังเดียวกัน

                สำหรับชุมชนปะหล่องซึ่งอยู่ในเมียนมาร์  นอกจากจะมีลักษณะครอบครัวขยายทางฝ่ายชายแล้วยังพบว่าการอยู่รวมกันของครอบครัวเดี่ยวหลาย ๆ ครอบครัวในบ้านหลังเดียว  บางหลังคาเรือนอยู่รวมกันถึง 20 ครอบครัว  แต่ละครอบครัวอาจจะมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติหรือไม่ก็ได้  หากสมัครใจรักใคร่สนิทสนม และปรารถนาจะอยู่รวมบ้านเดียวกันก็จะตกลงกัน  และช่วยกันสร้างบ้านหลังยาวจำนวนห้องเท่ากับจำนวนครอบครัวที่จะอยู่ร่วมกัน เมื่อเสร็จแล้ว  แต่ละครอบครัวจะสร้างเตาไฟขึ้นภายในห้องของตน  เพื่อประกอบอาหารและให้ความอบอุน  กฎของการอยู่ร่วมกันใน “บ้านรวม”  เช่นนี้  คือ ทุกครอบครัวต้องปรองดองและเคารพเชื่อฟังผู้อาวุโสของบ้าน

ลักษณะทางวัฒนธรรม

                การแต่งกาย   ลักษณะการแต่งกายที่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดถึงเอกลักษณ์ของเผ่า  คือ  เครื่องแต่งกายของผู้หญิง  ซึ่งประกอบด้วยเสื้อผ่าหน้า  แขนกระบอก  เอวลอยสีพื้นสดใส  ส่วนใหญ่มักเป็นสีฟ้า  สีน้ำเงิน  สีเขียวใบไม้  ตกแต่งสาบเสื้อด้านหน้าด้วยแถบผ้าสีแดง  สวมผ้าซิ่นที่ทอขึ้นเอง  สีแดงสลับลายริ้วขาวเล็ก ๆ ขวางลำตัวความยาวจรดเท้า  โพกศรีษะด้วยผ้าผืนยาว  ซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้ผ้าขนหนูซึ่งซื้อจากตลาดพื้นราบ  ลักษณะที่โดดเด่นคือ  การสวมที่เอวด้วยวงหวายลงรักแกะลายหรือใช้เส้นหวายเล็ก ๆ ย้อมสีถักเป็นลาย  บางคนก็ใช้โลหะสีเงินลักษณะเหมือนแผ่นสังกะสีนำมาตัดเป็นแถบยาว  ตอกลายและขดเป็นวง  สวมใส่ปนกัน  วงสวมเอวเหล่านี้  ปะหล่องเรียกว่า “หน่องว่อง”

                หญิงปะหล่องทั้งเด็ก  สาว  คนชราจะสวมหน่องว่องตลอดเวลาด้วยความเชื่อว่า คือ  สัญลักษณ์นของการเป็นลูกหลานนางฟ้า  ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาถึงนางฟ้าที่ชื่อ “หรอยเงิน”  ได้ลงมายังโลกมนุษย์  แต่โชคร้ายไปติดแร้วดักสัตว์ของชาวมูเซอ  ทำให้ไม่สามารถเดินทางกลับสวรรค์ได้ต้องอยู่ในโลกมนุษย์หลายกลุ่ม  ชาวปะหล่องเชื่อว่าพวกตนเป็นลูกหลานกลุ่มหนึ่งของนางหรอยเงิน  ฉะนั้นจึงต้องสวม “หน่องว่อง”  ซึ่งเปรียบเสมือนแร้วดักสัตว์ไว้เป็นสัญญาลักษณ์เพื่อระลึกถึงนางฟ้าหรอยเงินตลอดเวลา

                ชาวปะหล่องยังเชื่ออีกว่า หน่องว่องเป็นวัตถุมงคลของชีวิต  การสวมหน่องจ่องจะทำให้เกิดความสุข  เมื่อตายไปจะได้ขึ้นสวรรค์  หากถอดออกจะทำให้สิ่งไม่เป็นมงคลเข้ามาครอบงำ  ฉะนั้นพวกผู้หญิงจึงต้องสวมหน่องว่องไว้ตลอดเวลาแม้กระทั่งเวลานอน

                มีผู้สันนิษฐานว่า  แต่เดิมหน่องว่องของปะหล่องทำด้วยเงินแท้ ๆ และเป็นเครื่องแสดงฐานะของผู้สวมใส่ด้วย  ต่อมาเมื่อต้องเผชิญกับสงครามและการอพยพโยกย้าย  ทำให้ถูกปล้นและแย่งชิงอยู่เนื่อง ๆ จนในที่สุดจึงไม่เหลือหน่องว่องที่เป็นเงินแท้ ๆ ให้เห็นในชุมชนปะหล่องที่อยู่ในประเทศไทย

                ลักษณะการแต่งกายของผู้ชาย  เปลี่ยนแปลงไปจนไม่สามารถหาลักษณะที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ได้ทั้งเด็กหนุ่ม และชายชรา  ล้วนแต่งกายแบบคนพื้นราบ  มีเพียงผู้เฒ่าบางคนเท่านั้นที่ยังคงสูบยาด้วยกล้องยาสูบขนาดยาวประมาณ  1 ฟุต ทำจากไม้แกะสลักเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นปะหล่องที่แตกต่างไปจากชนเผ่าอื่น ๆ ในประเทศไทย

                การตกต่างร่างกายซึ่งเป็นที่นิยมกันทั้งในกลุ่มหญิงและชาย  ทั้งยังเป็นเครื่องแสดงฐานะของชาวปะหล่องอีกอย่างหนึ่งคือ  การเลี่ยมฟันด้วยโลหะคล้ายทองทั้งปาก  และประดับด้วยพลอยหลากสีซึ่งเป็นที่นิยมกันมาตั้งแต่ครั้งอยู่ในเมียนมาร์  แม้ในประเทศไทยปัจจุบันก็ยังคงมีความนิยมเช่นนี้ปรากฏให้เห็น

                ภาษา  ชาวปะหล่องมีภาษาพูดของตนเอง ที่นักภาษาศาสตร์บางคนจัดให้อยู่ในกลุ่มภาษาปะหล่อง – วะ แต่โดยทั่วไปแล้ว  ชาวปะหล่องสามารถพูดภาษาไทยใหญ่ได้  นอกจากนั้นในภาษาปะหล่องสยังปรากฏการหยิบยืมคำมาจากภาษาต่าง ๆ มากมาย ทั้งจากภาษาเมียนมาร์ คะฉิ่น ไทยใหญ่  และภาษาลีซอ  เป็นต้น  ในการติดต่อกับคนต่างเผ่าปะหล่องจะใช้ภาษาไทยเป็นหลัก  ส่วนปะหล่องในประเทศไทยนั้น  ปัจจุบันเด็ก ๆ และผู้ชายวัยกลางคนมักพูดภาษาไทยเหนือได้บ้าง  ส่วนการสื่อภาษา  กับผู้หญิงต้องอาศัยล่าม  เพราะผู้หญิงฟังภาษาไทยเข้าใจแต่ไม่กล้าโต้ตอบด้วยภาษาไทย

ประเพณีเกี่ยวกับชีวิต

การเกี้ยวพาราสีและการแต่งงาน

                หนุ่มสาวปะหล่องไม่นิยมแต่งงานกับคนต่างเผ่า  การพบปะกันของชายหนุ่มหญิงสาวมักจะเกิดขึ้นในเทศกาลหรือพิธีทำบุญต่าง ๆ เมื่อชายหนุ่มถูกใจหญิงสาวคนใด  ก็จะหาโอกาสไปเที่ยวบ้านในตอนกลางคืน โดยจะเป่าปี่ (เว่อ) หรือดีดซึง (ดิ้ง)  เป็นเพลงบอกกล่าวให้สาวตื่นขึ้นมาเปิดประตูรับหากสาวไม่รังเกียจก็จะลุกขึ้นมาเปิดประตูให้  และพากันเข้าไปในบ้าน  นั่งคุยกันที่เตาไฟ  การพูดคุยจะเกิดขึ้นเช่นนี้  โดยไม่มีเรื่องเพศสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้อง  จนหนุ่มสาวเข้าใจกันและตกลงจะแต่งงานกันจึงบอกพ่อแม่  และพ่อแม่ฝ่ายชายจึงจะไปสู่ขอกับพ่อแม่ฝ่ายหญิง  ส่วนใหญ่สินสอดที่เรียกร้องกันจะอยู่ระหว่าง 3-4 พันบาท  ค่าใช้จ่ายในพิธีแต่งงานเป็นของฝ่ายชายทั้งหมด  เมื่อเสร็จพิธีแต่งงานแล้วฝ่ายหญิงต้องไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายชาย

                กรณีที่ฝ่ายชายไม่มีเงินค่าสินสอด  พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะเป็นฝ่ายออกค่าใช้จ่ายในการแต่งงานให้และหลังพิธีแต่งงาน  ฝ่ายชายจะต้องไปอยู่กับครอบครัวฝ่ายหญิงเป็นการขึ้นเขย  ทำงานชดใช้ค่าสินสอดเป็นเวลา 3 ปี จากนั้นจะแยกครอบครัวหรือพาฝ่ายหญิงไปอยู่กับครอบครัวของตนก็ได้

                พิธีแต่งงาน  จะมีทั้งการเลี้ยงผีเรือน  ผีปู่ย่าตายาย  ในวันมัดมือ  และหลังจากนั้นคู่แต่งงานก็จะพากันไปทำบุญที่วัดเป็นการทำพิธีทางศาสนา

                การรักษาอาการเจ็บป่วย   ในแต่ละหมู่บ้านจะมีบุคคลผู้ซึ่งมีความรู้เรื่องการรักษาแบบพื้นบ้านทั้งโดยการทำพิธีเซ่นสรวงบูชา  ใช้มนต์คาถา และการใช้ยาสมุนไพร  ชาวบ้านเรียกบุคคลผู้นี้ว่า “สล่า”

                หน้าที่ของสล่า  นอกจากรักษาอาการเจ็บป่วยแล้ว  ยังสามารถทำนายทายทักเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้  นอกจากนั้นชาวปะหล่องยังไว้วางใจให้สล่าเป็นผู้ตั้งชื่อเด็กเกิดใหม่เพื่อความเป็นมงคล  และทำหน้าที่ปลุกเสกเครื่องลางของขลังเป่ามนต์คาถาเพื่อให้ได้ผลทางการป้องกันตัว  หรือทำเสน่ห์มหานิยมด้วย

                การตาย  เมื่อมีการตายเกิดขึ้น  ญาติพี่น้องจะตั้งศพไว้เป็นเวลา 2 วัน  ระหว่างนั้นจะมีการเลี้ยงอาหารชาวบ้านทั้งหมู่บ้านตลอดงานพิธี  พิธีกรรมในช่วงนี้จะมีการเลี้ยงผีเพื่อบอกกล่าวโดยด่าย่านเท่านั้น  เมื่อถึงเวลานำไปเผาที่ป่าช้า  จะนิมนต์พระมาชักศพนำและทำการสวดส่งวิญญาณด้วย

                ในเมียนมาร์  การเผาศพจะเผาเฉพาะคนตายที่เป็นคนชราเท่านั้น  หากเป็นคนหนุ่มต้องฝัง  แต่ปะหล่องในประเทศไทยจะใช้วิธีเผาเพียงอย่างเดียว

ศาสนาและความเชื่อ

                ชาวปะหล่องได้ชื่อว่า  เป็นกลุ่มชนที่ยึดถือคติธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด  วิถีชีวิตของชาวบ้านอยู่กันอย่างสุขสงบ  ปราศจากอบายมุข  มีประเพณีพื้นบ้านที่เกี่ยวพันกับพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้น ทุกหมู่บ้านจะมีวัดเป็นศูนย์กลางหากหมู่บ้านใดไม่มี  ชาวบ้านก็จะพากันไปทำบุญยังวัดใกล้หมู่บ้าน  ทุกหลังคาเรือนจะมีหิ้งพระบูชาเป็นที่เคารพสักการะ

                วันพระ  ช่วงเทศกาลเข้าพรรษา  ชาวบ้านจะพากันไปใส่บาตรและทำบุญที่วัดและจะมีพิธีเฉลิมฉลองเมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนา  เช่น  วันเข้าพรรษา  วันออกพรรษา  วันอาสาหบูชา  วันวิสาขบูชา  รวมทั้งวันปีใหม่ และวันสงกรานต์ด้วย  ในวันเหล่านี้นอกจากมีการทำบุญด้วยข้าว  อาหาร  ดอกไม้ใส่ขันดอก  แล้วยังมีการฟ้อนรำ  ร้องเพลง  บรรเลงฆ้อง  กลอง  ฉิ่งฉาบ  ทั้งที่วัดและลานหมู่บ้านด้วย

                พ่อแม่ชาวปะหล่องยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติเช่นเดียวกับชาวพุทธโดยทั่วไป คือ การสนับสนุนให้ลูกชายบวชเณรเพ่อเล่าเรียนธรรมะ  และบวชพระ  เพื่อแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บิดามารดา

                ด้านความเชื่อ  ชาวปะหล่องยังคงมีความเชื่อเรื่องวิญญาณควบคู่ไปกับการนับถือศาสนาพุทธโดยเชื่อว่าวิญญาณโดยทั่วไปจะมี   2  ระดับ  ระดับหนึ่งเรียกว่า “กาบู”  เป็นวิญญาณของสิ่งมีชีวิต  อีกระดับหนึ่งคือ “กานำ”  เป็นวิญญาณที่สิงสถิตอยู่ในสิ่งที่ไม่มีชีวิต  เช่น  ต้นไม้  ภูเขา  แม่น้ำ  และเชื่อว่าบุคคลแต่ละคนจะมีวิญญาณ 2  ระดับนี้ให้ความคุ้มครองอยู่ นั่นคือ วิญญาณของตนเองและวิญญาณที่สิงสถิตอยู่โดยทั่วไป  เช่น บ้าน  หมู่บ้าน  ทางเดิน  ไร่ข้าว ฯลฯ

                ชาวบ้าน  จะมีพิธีเซ่นสรวงบูชาผี  หรือวิญญาณควบคู่ไปกับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพุทธอยู่เสมอ  เช่น พิธีแต่งงาน  พิธีศพ  หรือการขึ้นบ้านใหม่  โดยมีหัวหน้าพิธีกรรมที่เรียกว่า “ด่าย่าน”  เป็นผู้ประกอบพิธี

                ในหมู่บ้านชาวปะหล่องจะมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญที่สุดของหมู่บ้าน คือ ศาลผีเจ้าที่  หรือ “ดะมูเมิ้ง”  ซึ่งเป็นที่สิงสถิตของผีหรือวิญญาณที่คุ้มครองหมู่บ้าน  บริเวณศาลจะอยู่เหนือหมู่บ้าน  ศาลจะได้รับการก่อสร้างอย่างประณีต มีรั้วล้อมรอบ  สะอาดเรียบร้อย เนื่องจากชาวบ้านจะช่วยกันดูแลและซ่อมแซมตลอดเวลา

                พิธีกรรมที่สำคัญ   นอกจากการทำบุญและประกอบพิธีกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาแล้วพิธีสำคัญที่สุดที่ชาวบ้านต้องกระทำทุกปีคือการบูชาผีเจ้าที่

                การบูชาผีเจ้าที่จะกระทำปีละ  2  ครั้ง คือ ช่วงก่อนเข้าพรรษา  1 ครั้ง และช่วงก่อนออกพรรษาอีก 1 ครั้ง

                พิธีบูชาผีเจ้าที่ก่อนเข้าพรรษาเรียกว่า  “เฮี้ยงกะน่ำ”   มีจุดมุ่งหมายเพื่อบอกกล่าวแก่ผีเจ้าที่หรือเป็นการย้ำแก่ผีเจ้าที่ว่าในช่วงเข้าพรรษา  ชาวบ้านจะไม่มีการเอาผัวเอาเมีย  หรือมีพิธีแต่งงานเกิดขึ้นจากนั้นจึงทำพิธี “แฮวะ  ออกวา”   คือบูชาผีเจ้าที่อีกครั้งหนึ่ง  เพ่อทำการเปิดประตูศาลผีเจ้าที่หรือ “วะ สะเมิง”  เพื่อเป็นการบอกกล่าวว่าช่วงฤดูที่ชาวบ้านจะมีการแต่งงานกันมาถึงแล้ว  และในพิธีแต่งงานนี้ จะมีการเชื้อเชิญผีเจ้าที่ออกไปรับเครื่องเซ่นบูชาด้วย

                ชาวบ้านทุกหลังคาเรือนจะต้องร่วมในพิธีนี้โดยนำไก่ต้มสับเป็นชิ้น ๆ นำไปรวมกันที่ศาลเจ้าที่จากนั้น

“ด่าย่าน”  หรือ ผู้นำในการทำพิธีกรรมก็จะเป็นผู้บอกกล่าวแก่ผีเจ้าที่ต่อไป

 

สภาพทางเศรษฐกิจ

                ชาวปะหล่องมีความชำนาญในการปลูกชาพันธุ์ดีมาตั้งแต่ครั้งอยู่ในเมียนมาร์  โดยเฉพาะแถบเมืองตองแปง  เมืองน้ำซัน  ชาที่ปลูกโดยชาวปะหล่องมีคุณภาพดีมากถึงขั้นเป็นสินค้าส่งออก

                การเพาะปลูกพืชอื่น ๆ ส่วนใหญ่เป็นพืชเพื่อบริโภค  โดยปลูกข้าวเป็นพืชหลัก  นอกจากนี้ก็มีถั่วชนิดต่าง ๆ เช่น  ถั่วลิสง  ถั่วเหลือง  ถั่วแปะยี  งา  ข้าวโพด  ยาสูบ  มันเทศ  อ้อย ฯลฯ

                การเลี้ยงสัตว์  ทุกหลังคาเรือนจะเลี้ยงหมูและไก่เพื่อใช้ในพิธีกรรมเท่านั้น  โดยปกติแล้วชาวปะหล่องไม่นิยมบริโภคเนื้อสัตว์  อาหารประจำวันส่วนใหญ่จะมีส่วนประกอบของผักและถั่ว  ซึ่งนับว่ามีคุณค่าทางอาหารเทียบเท่ากับการบริโภคเนื้อสัตว์

                ชาวปะหล่อง  แม้จะมีความสามารถในการเพาะปลูกพืชต่าง ๆ ซึ่งเป็นความรู้ความชำนาญที่มีมาตั้งแต่ครั้งอยู่ในประเทศเมียนมาร์  แต่ก็ไม่สามารถใช้ความรู้เหล่านั้นได้อย่างเต็มที่เมื่อเข้ามาอยู่ในประเทศไทย  เนื่องจากขาดแคลนที่ทำกิน  และไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเองอย่างแน่นอน  ชาวปะหล่องจำนวนหนึ่งยึดอาชีพรับจ้างทำไร่ชาเลี้ยงตัวเอง  ในขณะที่บางกลุ่มต้องอาศัยที่ดินของชาวพื้นราบปลูกพืชผักต่าง ๆ เลี้ยงชีพ

                ปัญหาการบุกรุกป่าสงวนเพื่อใช้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยและทำมาหากินโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของชาวปะหล่องนับว่ามีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่และสภาพเศรษฐกิจของชาวปะหล่องมาก

                รัฐบาลและองค์กรเอกชน  ได้ให้ความสนใจเข้าไปช่วยเหลือและหาอาชีพเพื่อเสริมรายได้  เช่น ส่งเสริมการทอผ้า  และงานหัตถกรรมต่าง ๆ ซึ่งก็ยังเห็นผลไม่ชัดเจนนัก  เนื่องมาจากขาดบุคลากรที่เข้าไปส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง  และประกอบกับมีปัญหาด้านความต้องการของตลาดที่ไม่แน่นอนด้วย

                บางหมู่บ้าน  เช่น  ปางแดง อยู่ในท้องที่อำเภอเชียงดาว  จังหวัดเชียงใหม่  เริ่มมีรายได้เสริมจากการรับนักท่องเที่ยวให้ค้างในหมู่บ้านซึ่งก็เป็นการดำเนินการของบริษัทท่องเที่ยว  กับบุคคลบางครอบครัวในหมู่บ้านเท่านั้น  ยังมีมีการจัดระบบให้รายได้กระจายอย่างทั่วถึง

                แต่ก่อนเมื่อครั้งอยู่ในประเทศเมียนมาร์  ในชุมชนที่มีประชากรปะหล่องหนาแน่น  เช่น เมืองตองแปง  ชาวปะหล่องจะอยู่ในระบบการปกครองเช่นเดียวกับพวกฉาน  คืออยู่ภายใต้การปกครอง “มะโย้ซา”  ซึ่งกระจายอำนาจต่อมายัง  เห็ง  ถะโหมง  ซึ่งเทียบเท่ากำนันและคณะผู้บริหารตำบล  โดยมี “แก่” ซึ่งมีฐานะเทียบเท่า “ผู้ใหญ่บ้าน”  เป็นหัวหน้าปกครองหมู่บ้าน  ส่วนในพื้นที่ที่ปะหล่องอยู่ไม่หนาแน่น  รัฐบาลจะแต่งตั้งผู้นำซึ่งเป็นบุคคลที่ชาวบ้านเลือกขึ้นมาเป็นผู้ดูแล  ซึ่งบุคคลผู้นี้มักจะได้แก่ผู้นำหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งในกลุ่มตระกูลใหญ่ของชุมชน

                ส่วนระบบการปกครองของชุมชนปะหล่องในประเทศไทยนั้น  แม้ว่าบางหมู่บ้านจะได้รับอนุญาตจากทางราชการให้มีผู้ใหญ่บ้านและกรรมการหมู่บ้านตามระเบียบการปกครองส่วนท้องถิ่นแล้วก็ตาม  แต่โดยจารีตแล้ว บุคคลที่เป็นกลุ่มผู้นำในชุมชนโดยแท้จริงได้แก่

1.       หัวหน้าบ้าน  หรือ “หน่าจะกั้ง”  บุคคลผู้นี้ได้แก่ผู้นำการอพยพ  เป็นผู้ที่ได้รับความเชื่อถือและเคารพศรัทธาจากชาวบ้าน  ถึงขั้นให้อำนาจตัดสินใจ  ต่อมาบุคคลผู้นี้มักจะได้รับการมอบหมายจากทางราชการให้ดำรงตำแหน่งผู้นำของชุมชนฐานะเทียบเท่ากับผู้ใหญ่บ้าน

2.       ผู้อาวุโส ชาวปะหล่องเป็นชนกลุ่มที่มีนิสัยอ่อนโยน  เชื่อมั่นในเรื่องบาปบุญคุณโทษและความกตัญญูตามคติทางพุทธศาสนา  ฉะนั้นกลุ่มผู้อาวุโสจึงมีอิทธิพลมากต่อความสงบเรียบร้อยของชุมชน

พระ หรือ “ยะพร่า”  เป็นที่เคารพศรัทธาและเชื่อถือของชาวบ้านมาก  ทั้งนี้เนื่องจากปะหล่องนับถือศาสนาพุทธ  ฉะนั้นถึงแม้พระจะมีฐานะเป็นบุคคลทางศาสนา  แต่โดยแท้จริงแล้วมีบทบาทต่อความสงบเรียบร้อยของชุมชนเช่นเดียวกับผู้อาวุโสด้วย

 

 

 

****************************

 

 กระเหรี่ยง (Karen)  แม้ว (Meo)     เย้า ( Yao)    มูเซอ ( Lahu)        ลีซอ (Lisu)      อีก้อ (Akha)    ลัวะ (Lua)

 ถิ่น(H'tin)      ขมุ( Khamu)     ผีตองเหลือง(Malabari)    ปะดอง(Padaung)    ปะหล่อง(Palong)